คลังชี้ปี’65 รัฐอัดเงินลงเศรษฐกิจ 4 ล้านล้าน-นักท่องเที่ยวกลับมา หนุนจีดีพีโต 4%

เศรษฐกิจ

คลังชี้ปี’65 รัฐอัดเงินลงระบบเศรษฐกิจ 4 ล้านล้าน คาดนักท่องเที่ยวกลับมา 6-7 ล้านคน หนุนจีดีพีโต 4% พร้อมติดตาม 4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  เปิดเผยว่า ในปี 2565 สศค.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.5-4%  ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนดีมานต์ในประเทศ คือ เม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายประจำ 3.1 ล้านล้านบาท งบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.7 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจาก ...กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 อีก 2.5 แสนล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

นอกจากนี้ ยังมีจากภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งไทยมีการเปิดประเทศ ซึ่ง สศค.คาดว่าในปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยประมาณ 6-7 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นมุมมองเชิงบวกกรณีประเทศจีนมีการเปิดประเทศให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่หากจีนยังคงมาตรการปิดประเทศตลอดทั้งปี 2565 ก็คาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยจะลดลงเหลือ 6.3 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเรื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5% และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่คาดว่าขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งได้รับอานิสงค์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่หนุนต่อการส่งออกของไทย

ส่วนมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศนั้น ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคใดออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อหลังจากหมดมาตรการกระตุ้นการบริโภคในปลายปี 2564 นี้แล้ว รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การจ้างงานมากขึ้น ผ่านการลงทุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งเมื่อคนในประเทศมีงานทำ ก็จะส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคภายในประเทศตามมา

อย่างไรก็ดี ยังมี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยได้แก่ 1.การแพร่ระบาดไวรัสโควิด แม้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ก็ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศ ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว หากเกิดการแพร่ระบาดอีกรอบ

2.การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากสถานการณ์การส่งออกเริ่มฟื้นตัว ผู้ประกอบการทยอยส่งออกสินค้าพิ่มขึ้นแต่หากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอต่อการส่งออก ก็เป็นอุปสรรคของการส่งออก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การส่งออกปราศจากอุปสรรค

3.การขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ในภาคการผลิตและภาคการก่อสร้าง เนื่องจากในช่วงโควิดแพร่ระบาดอย่างหนักแรงงานต่างด้าว ได้เดินทางกลับไปยังประเทศของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะขณะนี้จะทยอยเดินทางกลับเข้าไทย แต่ก็ยังไม่สามารถเข้ามาเต็มจำนวนก่อนเกิดโควิดได้

และ 4.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน และขยายตัวไม่เท่ากัน  ทั้งราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด