
“เดอะ วัน ประกันภัย” ถูกเพิกถอนใบอนุญาต กองทุนประกันวินาศภัย ผนึก 21 บริษัท รับช่วงดูแลผู้เอาประกันภัย เช็กเลย! สิ่งที่ผู้ถือกรมธรรม์ต้องดำเนินการ
วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. รมว.คลังได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลัง เลขที่ 2423/2564 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
สืบเนื่องจากนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวหยุดรับประกันไปเป็นการชั่วคราว และได้เชิญผู้บริหารบริษัทประชุม ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ทางบริษัทไม่มีแหล่งเงินทุนมาเสริมสภาพคล่องที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินหรือการเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ ณ วันที่ 2 ธ.ค.2564 บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถรนำมาใช้ได้เพียง 162.40 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่ายอยู่จำนวน 2,544.22 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินและสภาพคล่องได้ รวมทั้งบริษัทก็ได้หยุดจ่ายเคลมมาก่อนหน้านี้ กระทั่ง คปภ.ได้มีการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายไปแล้ว
“จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ รมว.คลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน การจัดสรรเงินสำรอง และการจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลัง ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่เพียงพอตามกฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคง และไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยไม่มีเหตุผลสมควร
อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายหลายประกาส แสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่มีความพร้อมจะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน หรือผู้เอาประกัน ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย” ดร.สุทธิพลกล่าว
อย่างไรก็ดี หากทางบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางได้ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
- รมว.คลังเพิกถอนใบอนุญาต “เดอะ วัน ประกันภัย”
- คปภ.สั่งเพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจประกัน 11 บริษัทช่วง 10 ปี จับตาเดอะ วันฯ
ดร.สุทธิพลกล่าวว่า หลังจากนี้ กองทุนประกันวินาศภัยจะเข้ามารับช่วงในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี และได้ร่วมกับบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 13 บริษัท บริษัทประกันชีวิต จำนวน 8 บริษัท ดังนี้
1) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทแล้ว สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อขอรับชำระหนี้โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
2) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัท สามารถยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย
3) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้
- ขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัย ให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ
- นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยได้จากบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิตที่เข้าร่วมโครงการ ได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย
4) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า ในวงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกันภัย 300 บาท หรือนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองกับบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตที่เข้าร่วมโครงการ
โดยจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพิ่มอีก 10% ของกรมธรรม์ใหม่ แต่ไม่เกิน 500 บาท ยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ทั้งนี้ มีการจัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่
(1) กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 26-30
(2) สำนักงาน คปภ.ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้วส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้
ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้
1.สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือสายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)
2.สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3
3.สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70
- คปภ.สั่ง “เดอะ วันฯ” หยุดรับประกันชั่วคราว ขีดเส้นตาย 15 วัน แก้ไขฐานะการเงิน
-
คปภ.ส่งเจ้าหน้าที่คุม “เดอะ วัน ประกันภัย” ป้องกันถ่ายเททรัพย์สิน
ส่วนภูมิภาค สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ได้พัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์
ตลอดจนสำนักงาน คปภ.มีการบูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยจัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 125 คู่สายทั่วประเทศ เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัย
2) บัตรประจำตัวประชาชน
3) ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใด ที่แสดงถึงมูลหนี้
และ 4) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้
1) หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้
2) บัตรประจำตัวประชาชน
และ 3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท