ธปท.เลื่อนแผนทดสอบ “บาทดิจิทัล” ปลายปี 2565

ธปท.เผยเลื่อนแผนทดสอบ “บาทดิจิทัล” ภาคประชาชน หรือ Retail CBDC ชี้ปรับแผนบางส่วนหลังหารือผู้ร่วมทดสอบมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คาดเริ่มได้ปลายปี 2565 ดึงผู้ร่วมทดสอบกว่า 1 หมื่นราย หวังลดต้นทุน-ต่อยอดนวัตกรรม ยันไม่ได้ออกมาแข่งขัน “Stable Coin-Cryptocurrency” เป้าหมายคนละกลุ่ม

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในช่วงปลายปี ธปท.จะเริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC (Central Bank Digital Currency) กับภาคประชาชนในวงจำกัด ซึ่งเลื่อนจากแผนการเดิมที่วางไว้ในไตรมาสที่ 2/65 เนื่องจากภายหลังมีการพูดคุยหารือกับผู้เข้าร่วมทดสอบหลายครั้งได้มีข้อเสนอต่าง ๆ ในทางเทคนิคที่อาจจะยังต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นในการทดสอบ รวมถึงความพร้อมของผู้ร่วมทดสอบ จึงต้องขยับเวลาการทดสอบออกไปเป็นช่วงปลายปี 2565

อย่างไรก็ดี แผนการทดสอบจะมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ 1.รองรับการใช้งานพื้นฐาน (Foundation track) โดยให้ระบบสามารถเชื่อมโยงกันได้ และมีความปลอดภัยเพียงพอ ทั้งนี้ หากการทดลองดังกล่าวไม่มีปัญหาแล้ว จะก้าวเข้าสู่ 2.Innovation track ซึ่งจะเป็นการเปิดการต่อยอดนวัตกรรมที่มากกว่า เช่น “โอน-จ่าย-ถอน” ซึ่งธปท.ก็ต้องมาประเมินว่าหากภาคเอกชนทำแล้วจะกระทบความเสี่ยงอะไรบ้าง หรือกระทบต่อ ธปท.อย่างไร

ทั้งนี้ เบื้องต้นผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบ จะมีภาคสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งจะต้องดูขนาดของการทดสอบ แต่โดยรวมผู้เข้าร่วมทดลองกว่า 1 หมื่นราย

“ตัวเกณฑ์วัดผลในช่วงแรกของการทดสอบ Foundation track หากเป็นเรื่องโอนเงิน จะต้องดูว่าโอนเงินเร็วหรือเปล่า มีความสะดวกและปลอดภัยหรือไม่ และหากโอเคเราก็จะไปสู่การพัฒนานวัตกรรม โดยจะดูว่าตัวที่เราทดลองจะต่อยอดบริการได้ง่ายกว่าโครงสร้างพื้นฐานเดิมหรือเปล่า ซึ่งหากทำแล้วดีเราก็จะขยายวงกว้าง และก่อนจะออกไปใช้จริง ซึ่งรูปแบบการใช้ เช่น อาจจะมีซูเปอร์แอปฯ และมีบัญชีแยกระหว่างบัญชี CBDC และบัญชีเงินฝาก เป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันอีกที”

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวเสริมว่าการทำ Retail CBDC จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย ธปท.ไม่ได้มีแผนที่จะออก CBDC เพื่อมาแข่งขันกับ Stable Coin หรือ Cryptocurrency เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม แต่การทดลอง CBDC เพื่อมาเติมเต็มเรื่องของเงินสด ที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตร มาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุน และสามารถต่อยอดนวัตกรรมและการบริการได้

ขณะเดียวกัน การพัฒนา CBDC จะต้องตอบโจทย์ข้อจำกัด (Pain point) และบริบทของประเทศ เช่น ประเทศสวีเดนที่เป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless) แบบ 100% ทางการจึงศึกษา แต่ก็ยังไม่ได้มีการพูดชัดว่าจะนำมาใช้ทั้งประเทศเมื่อไร หรือประเทศจีนที่มีการทดลองการใช้จริงไปแล้วใน 4 มณฑล และจะขยายทั่วประเทศภายในปีหน้า ขณะที่ประเทศไทย ต้นทุนในการโอนเงินถือว่าค่อนข้างต่ำ การกระจายเงินยังไม่ได้มีปัญหา ทำให้ความจำเป็นในการเร่งรีบที่จะทำน้อยลง และ CBDC ถือเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธนาคาร และผู้เล่นด้วย

“ถึงแม้ว่าเราออกได้เร็ว ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมาแข่งขันกับคริปโทฯ แต่เราต้องการให้ CBDC ต่อยอดบริการได้ และผู้เล่นรายใหม่เข้าได้ง่ายขึ้น ทำให้เราอยู่ในจุดทดสอบในวงจำกัดก่อน ยังไม่ใช้จะเอาไปใช้จริงในวงกว้าง โดยเราศึกษามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่โครงการอินทนนท์ที่ใช้ทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกลางและธนาคารกลาง และมาสู่ภาคธุรกิจ และล่าสุดร่วมกับธนาคารกลางจีน ฮ่องกง และอาหรับเอมิเรตส์ ในการโอนเงินข้ามประเทศภายใต้ m-Bridge”