พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน! ธปท.เผย 11 เดือน แบงก์ปิดตัวสาขารวม 216 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปี 2560 ช่วง 11 เดือน ตั้งแต่มกราคม ถึงพฤศจิกายน พบว่า มีจำนวนสาขารวมทั่วประเทศ อยู่ที่ 6,800 สาขา ลดลง 216 สาขา จากสิ้นปี 2559 ที่มี 7,016 สาขา ซึ่งเป็นการปิดสาขาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และมีจำนวนปิดสาขามากสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ได้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มบริการทางการเงินผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล รวมทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น เช่น ให้บริการโดยเครื่องกดเงินอัตโนมัติ(เอทีเอ็ม) เครื่องฝากเงินอัตโนมัติ(ซีดีเอ็ม) ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาให้สามารถทำธุรกรรมได้หลากหลาย ทั้งโอนเงิน จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เติมเงิน เป็นต้น รวมทั้งการใช้บริการ โมบายแบงก์กิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ที่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปต่อแถวรอคิดที่สาขาซึ่งมีเวลาเปิด-ปิดจำกัด

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีการสาขาลดลงมากที่สุด คือ ธนาคารกรุงไทย ลดลง 91 สาขา จาก 1,213 สาขา เหลือ 1,122 สาขา ธนาคารกสิกรไทย ลดลง 82 สาขา จาก 1,110 สาขา เหลือ 1,028 สาขา ธนาคารธนชาต ลดลง 63 สาขา จาก 593 สาขา เหลือ 530 สาขา ธนาคารทหารไทย ลดลง 20 สาขา จาก 453 สาขา เหลือ 433 สาขา ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ลดลง 5 สาขา จาก 92 สาขา เหลือ 87 สาขา ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนสาขาเาเดิม 1,170 สาขา เช่นเดียวกับธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 133 สาขา เกียรตินาคิน 67 สาขา

ทั้งนี้ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เพิ่ม 44 สาขา จาก 88 สาขา เป็น 132 สาขา ธนาคารกรุงเทพ เพิ่ม 8 สาขา จาก 1,157 สาขา เป็น 1,165 สาขา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพิ่ม 5 สาขา จาก 658 สาขา เป็น 663 สาขา ธนาคารทิสโก้ เพิ่ม 3 สาขา จาก 57 สาขา เป็น 60 สาขา ไอซีบีซี (ไทย) เพิ่ม 2 สาขาจาก 20 สาขา เป็น 22 สาขา

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จำนวนสาขาของธนาคารกสิกรไทยมีแนวโน้มลดลงเป็นผลจากการรวมสาขาที่มีอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน รวมทั้งการปิดบางสาขาที่มีลูกค้าใช้บริการน้อยจนไม่คุ้มทุน เพราะปัจจุบันการทำธุรรมการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และออนไลน์ ทั้งโมบายแบงก์กิ้งและอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง มีมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องมีสาขามากเหมือนในอดีต ด้านพนักงานสาขา ยืนยันว่าไม่มีการลดจำนวนพนักงาน โดยสาขาใดที่มีการปิดจะย้ายไปอยู่สาขาใกล้เคียงเพื่อให้ไม่กระทบกับการเดินทาง และจะมีการฝึกอบรมเพื่อให้พนักงานมีทักษะที่หลากหลายมากขึ้นรองรับงานอื่นๆ

“การปิดสาขาจะพิจารณาหลายปัจจัย เพราะสาขาและการทำธุรรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์ มีความเชื่อโยงกันอยู่และหากลูกค้ามีปัญหาการใช้งานสามารถให้พนักงานสาขาช่วยเหลือได้ ทั้งนี้ สาขาที่มีอยู่จากเดิมที่การทำธุรกรรมจะเน้นการให้บริการสินเชื่อ การขายกองทุนและประกัน เป็นต้น ส่วนการเปิดสาขาใหม่ยังมีความจำเป็น จะเน้นไปตามห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ แหล่งชุมชน หรืออาคารสำนักงาน เพื่อรองรับความต้องการของลุกค้าและขยายฐานลูกค้าใหม่” นางสาวขัตติยา กล่าว

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้บริการธนาคารผ่านระบบดิจิทัลมีมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น สาขายังมีความจำเป็นกับการให้บริการและขระนี้ยังมีจำนวนมาก ส่วนทิศทางการลดจำนวนสาขาของแต่ละธนาคารในอนาคต ธนาคารแต่ละคงจะมีการพิจารณาถึงความจำเป็นของสาขาแต่ละสาขาที่มีอยู่ และความคุ้มทุนของสาขานั้น ๆ อย่างไรก็ตาม การปิดสาขาธนาคารคำนึงถึงผลกระทบกับการให้บริการลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียงน้อยที่สุดอยู่แล้ว ส่วนผลกระทบกับพนักงานสาขา ที่ผ่านมาพนักงานธนาคารมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนทั้งเข้าใหม่ ลาออกและเกษียณอายุ เชื่อว่าทุกธนาคารมรการดูแลพนักงานอย่างดีที่สุดอยู่แล้ว รวมทั้งมีการเพิ่มทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานด้วย