FETCO ชี้นักลงทุนกังวลเฟดฉุดดัชนีเชื่อมั่นลดลงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

Image of eyeglasses, pen and financial document

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ชี้ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” นักลงทุนคาดหวังเฟดดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย  ขณะที่ยังคงเป้าดัชนีหุ้นไทยปี’ 65 ไว้ที่ 1,800 จุด คาดจะได้เห็นช่วงครึ่งปีหลังจากกลุ่มท่องเที่ยวฟื้นตัว  

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ม.ค. 65 พบว่าดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.91 ปรับตัวลดลง 27.5% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral)  โดยนักลงทุนคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมา คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19

ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด รองลงมาคือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

โดยผลสำรวจ ณ เดือน ม.ค. 65 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับลด 4.6% อยู่ที่ระดับ 121.74 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 8.3% อยู่ที่ระดับ 108.33 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 2.9% อยู่ที่ระดับ 125.00 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 64.3% มาอยู่ที่ระดับ 50.00

ในช่วงเดือน ม.ค. 65 SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบอยู่ระหว่าง 1,634.17-1,680.02 จุด โดยดัชนีมีความผันผวนในช่วงต้นเดือนจากความกังวลที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดและมีแนวโน้มปรับขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐชะลอการรับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน ม.ค. SET Index ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกหลังผลการประชุมเฟดจากความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย SET Index ณ สิ้นเดือน ม.ค. 65 ปิดที่ 1,648.81 จุด ปรับตัวลดลง 0.5% จากเดือนก่อนหน้า

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น, ผลต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจากการที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดยเฟดมีแผนปรับลด QE เร็วขึ้น ซึ่ง QE Taper จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 65 ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโดยอาจปรับลดลงเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ และเฟดมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้

รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานในยุโรปซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแผนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นเดียวกับธนาคารกลางจีน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความขัดแย้งในหลายประเทศที่ต้องจับตามอง เช่น รัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง เป็นต้น

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ


นายไพบูลย์กล่าวว่า ยังมีมุมมองสำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี’65 นี้ไม่ต่างจากเดิม คือยังมั่นใจว่าปีนี้ผลงานจะดีกว่า (Outperfrom) เมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากประเทศไทยปีนี้มีโอกาสเติบโตจากภาคการท่องเที่ยว หลังจากเริ่มเปิด Test and Go ช่วงเดือน ก.พ.นี้อีกครั้ง และตลาดหุ้นอื่นในประเทศพัฒนาแล้วก็ปรับขึ้นไปค่อนข้างมากจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งยังคงเป้าดัชนีหุ้นไทยไว้ที่ 1,800 จุด ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้  เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกยังมีปัจจัยกังวลหลายอย่าง ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่านักท่องเที่ยวจะทยอยเข้ามามากขึ้น และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้มีการเติบโตได้ 4%