จับตาตึงเครียด “รัสเซีย-ยูเครน” หากยืดเยื้ออาจกระทบเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย

การลงทุน ก.ล.ต.
แฟ้มภาพ

ความตึงเครียด “รัสเซีย-ยูเครน” ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตลงทุนหนีจากสินทรัพย์เสี่ยงหันเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ “หุ้น-คริปโทฯ” ร่วงยกแผง ส่วนทางกับทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น วันนี้เราได้พูดคุยกับ “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์”  ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)  เกี่ยวกับประเด็นรัสเซีย-ยูเครน หากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบอย่างไร และกลยุทธ์ปรับพอร์ตลงทุนระยะนี้ 

ตึงเครียด “รัสเซีย-ยูเครน” ฉุดสินทรัพย์เสี่ยง

จากความกังวลสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่จะเข้าสู่ภาวะสงคราม ส่งผลทำให้สินทรัพย์เสี่ยงไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือคริปโทเคอร์เรนซีต่างถูกเทขาย เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงมักจะติดลบและผันผวนสูงในช่วงที่มีความไม่แน่นอน ดังนั้นนักลงทุนจึงปรับพอร์ตลงทุนเข้ามาในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น

เนื่องจากทองคำไม่ได้มีความเสี่ยงของรัฐบาลใด ๆ ในโลกนี้ที่หนุนหลังอยู่  โดยเฉพาะตอนนี้ที่เหมือนจะเข้าภาวะสู่สงคราม สกุลเงินดอลลาร์ก็มีความไม่แน่นอนว่าจะดีหรือเปล่า เพราะว่าต้องรอดูทางฝั่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าจะมีการตอบโต้อย่างไร ฝั่งยุโรปก็ดูมีปัญหา ส่วนรัสเซียก็ไม่ต้องพูดถึงเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สกุลเงินก็จะอ่อนค่าก็จะส่งผลให้นักลงทุนสถาบันย้ายเงินไปถือทองคำมากขึ้นทองคำจึงมักทำผลตอบแทนได้ดี อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคืออัตราพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ (Bond Yield) มีการปรับตัวลงซึ่งก่อนหน้านี้ที่อัตราพันธบัตรรัฐบาลมีการปรับตัวขึ้นมาที่เป็นตัวกดดันราคาทองคำที่ปรับตัวลงทำให้ตอนนี้เมื่อพันธบัตรปรับตัวลงบวกกับความเสี่ยงจากสถานการณ์นี้ทำให้ทองคำได้รับความสนใจด้วยความที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจกระทบเฟด

สมมุติว่าสถานการณ์นี้เกิดยืดเยื้อไปใกล้ช่วงที่จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เฟดอาจเปลี่ยนการตัดสินใจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือเปล่า ซึ่ง ณ ปัจจุบันเฟดอาจจะยังไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้มากนักว่าสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซียยูเครนจะยืดเยื้อไปถึงช่วงนั้นหรือไม่  ซึ่งถ้าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายจนทำให้หุ้นปรับฐานลงมาเยอะ ๆ หรือไม่ได้ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้องออกมาพูดเรื่องรัสเซียและยูเครนทุก ๆ วันก็อาจจะไม่ได้มีผลกระทบที่ทำให้เฟดจะต้องมีการปรับนโยบายก็อาจจะไม่ได้กดดันมากนัก

แต่ถ้าสถานการณ์มันเลวร้ายมากจนทำให้หลายอย่างปรับตัวลงและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องเอามาพูดเรื่องนี้ทุกวันก็จะทำให้เฟดมีการปรับนโยบายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือเลื่อนการใช้นโยบายออกไปเนื่องจากมองว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะทำให้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากเกินไป    ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลาย ๆ คนบอกว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใน 0.5 bps. แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเรื่องของรัสเซียและยูเครนเข้ามาก็ทำให้หลายคนมองว่าปรับขึ้นแค่ 0.25 bps. ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
ประเทศไทยกระทบไม่มาก  

ในช่วงที่ผ่านมาการที่ดัชนีหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากฟันด์โฟลว์หรือเม็ดเงินการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยถ้าเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจหรือกำไรสุทธิ (Earning) แน่นอนว่าไม่กระทบอยู่แล้ว ซึ่งในสมัยก่อนคนรัสเซียก็มักจะนิยมมาเที่ยวหรือว่าเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย   แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดจึงไม่ได้เป็นปัญหามากนักเพราะนักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางเข้ามามากอยู่แล้วเหมือนช่วงก่อนโควิด   แต่อนาคตก็อาจจะมีการกระทบภาคท่องเที่ยวได้บ้างถ้าเขาเกิดมีปัญหาในระยะยาวหรือว่าเศรษฐกิจของเขาไม่ฟื้นตัวกลับมาท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ก็จะหายไป

ทั้งนี้ความเสี่ยงเรื่องภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์จะทำให้นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุนในประเทศที่เป็น Emerging Market หรือ ตลาดเกิดใหม่ น้อยลงสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังเพราะหากต่างชาติหยุดเข้าซื้อหุ้นไทยก็อาจจะร่วงลงมาได้  แล้วบวกกับมาเจอสถานการณ์ในตอนนี้แล้วนักลงทุนต่างชาติอาจจะต้องลดพอร์ไปลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น  อันนี้ตลาดหุ้นไทยก็ต้องระวังมากขึ้นต่อให้พื้นฐานไม่เปลี่ยนแต่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยก็มองว่าหุ้นไทยก็อาจจะได้รับบาดเจ็บไม่น้อย

ส่วนข้อดีที่ประเทศไทยได้รับคือจากเหตุการณ์นี้ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของหุ้นพลังงานค่อนข้างสูง   ถ้ามองในแง่ของแนวโน้มในกลุ่มของน้ำมันดิบ ตั้งแต่จากต้นไปจนถึงปลายน้ำก็จะได้รับอานิสงค์จากราคาสินค้าพลังงานที่มันเพิ่มสูงขึ้น

จัดพอร์ตถือเงินสด 20% รอดูสถานการณ์

สำหรับการจัดพอร์ตในสถานการณ์แบบนี้ง่ายที่สุดคือต้องลดสัดส่วนที่เป็น fixed income หรือตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรเอกชนลงก่อน  เนื่องจากมองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง ต่อให้จะมีเรื่องรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาแต่อนาคตโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ยังมี  บวกกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาด้วยยังเป็นความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น จากที่เราเคยถือตราสารหนี้ประมาณ 40% ของพอร์ต   ควรลดลงมาเหลือแค่ประมาณ  20%  ซึ่งใน 20%  นี้ก็อาจจะถือเงินสดไว้รอจังหวะเผื่อตลาดมีการปรับตัวลงเยอะก็อาจจะเป็นจังหวะเข้าซื้อ

ส่วนอีก 60% หากในพอร์ตยังไม่มีทองอาจจะแบ่งซัก 10%  มาถือทองคำหรือว่าสินทรัพย์ที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นป้องกันความเสี่ยงจากการจากความตึงเครียด ข้อดีของการลงทุนในทองคำก็คือว่าถ้าสถานการณ์ไม่ได้คลี่คลายลงไปอย่างรวดเร็วยังมีการยืดเยื้อต่อไปสินทรัพย์ประเภทนี้จะมีการปรับฐานลงยาก

ส่วนที่เหลืออีก 50% ของพอร์ตซึ่งส่วนใหญ่นักลงทุนอาจจะเข้ามาซื้อหุ้นไทย ซึ่ง ณ  ปัจจุบัน ที่ตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียสถานการณ์นี้มากนักจะถือต่อหรือจะเทขายออกมารอก่อนก็ได้  ส่วนเป็นหุ้นที่ลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่นในฝั่งตะวันตก ฝั่งยุโรป ซึ่งถ้ามีการลงทุนในกลุ่มนี้แล้วถ้าไม่อยากที่จะความผันผวนมีสูงขึ้นจากปัญหาสงครามก็อาจจะเปลี่ยนไปซื้อในภูมิภาคอื่นเช่น ญี่ปุ่น, จีนหรือในอาเซียนก็เป็นตัวทดแทนที่ดีในระยะสั้น ในส่วนของราคาหุ้นก็มองว่าไม่แพงเพราะไม่ได้มีปัญหากระทบทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงเป็นการปรับลงมาพร้อม ๆ กัน

ส่วนคริปโตเคอร์เรนซี่ มองว่าเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อที่มีความผันผวนสูงมาก  เพราะฉะนั้นปัจจุบันถ้าถามว่ามีโอกาสที่จะเข้าไปซื้อไหม ต้องบอกว่ามีเพราะถ้ามีการปรับฐานลงมาแรงก็มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นแรงเช่นกัน จากการที่ดอลลาร์มีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงรวมถึงเรื่องของเงินเฟ้อที่น่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องก็จะเป็นโอกาสที่จะกระจายการลงทุนในคริปโทฯ ได้  แต่ว่าก็ต้องเข้าใจด้วยว่าสินทรัพย์กลุ่มนี้ในระยะไกลหรือระยะยาวก็ต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่แต่ก็ต้องบอกว่าอย่าไปลงทุนเยอะอาจจะลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1-5% ของพอร์ตก็เพียงพอแล้ว

กองทุนไทยลงหุ้นรัสเซีย-ยูเครนสัดส่วนน้อย

ในประเทศไทยมีกองทุนที่มีสัดส่วนลงทุนในรัสเซียหรือยูเครนในสัดส่วนที่น้อย ไม่ได้เยอะแต่ก็จะมีในส่วนของการลงทุนในยุโรปเป็นหลักที่จะได้รับผลกระทบ อย่างกองทุน KWI Emerging Est Eurp FIF หรือ KWI EEU EURO ที่มีสัดส่วนในการลงทุนในรัสเซียสูงที่สุด 57.32% และในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมากองทุนผลตอบแทนติด -5.80%

แต่ของบลจ.ยูโอบี จะไม่มีกองทุนที่เข้าไปลงในรัสเซียหรือยูเครน แต่ะจะมีกองทุนที่ลงทุนในยุโรปซึ่งก็จะได้รับผลกระทบจากสถานการณืนี้อยู่ ซึ่งก็ไม่แนะนำให้ลงทุนในช่วงนี้เนื่องจาก นอกจากนั้นในส่วนของกองทุนที่เป็น Emerging Market หรือ ตลาดเกิดใหม่ ก็จะมีสัดส่วนการลงทุนในรัสเซียอยู่ที่ประมาณ 5% ของพอร์ตหากนักลงทุนกังวลก็พยายามเลี่ยงในส่วนนี้ไปก่อน

” ผมมองว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ณ ปัจจุบัน คงมาถึงจุดที่ผมคิดว่าใกล้จะจบลงแล้ว  ซึ่งหมากเกมต่อไปอาจจะต้องเป็นตัวที่เดินจากฝั่งตะวันตกบ้าง แล้วตัวเลือกของเขาด้วยพฤติกรรมที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้จบด้วยกันสงครามหรือตอบโต้  แต่จบด้วยการการกีดกันทางเศรษฐกิจมากกว่าซึ่งมันก็จะไม่ได้มีอะไรที่หน้าเป็นกังวลต่อไป  ก็คิดตอนนี้คงใกล้ที่จะจบลงมากแล้ว” ดร.จิติพล กล่าว