คลังกู้ญี่ปุ่น 1.6 หมื่นล้านสู้โควิด-รื้อแผนหนี้อุ้มกองทุนน้ำมัน

ญี่ปุ่น

คลังจ่อกู้เงินญี่ปุ่น 1.6 หมื่นล้านบาทแก้ปัญหาโควิด สบน.เผย JICA หนุนดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 15 ปี ปลอดชำระเงินต้น 4 ปีแรก พร้อมชง ครม.ไฟเขียวขยับเพิ่มกรอบวงเงินกู้พยุงราคาน้ำมันอีก 1 หมื่นล้านบาท เผยกองทุนน้ำมันเร่งเดินหน้ากู้ก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาทก่อนภายใน มี.ค.นี้ รับมือราคาน้ำมันดิบทะยานสูงสุดรอบ 13 ปี

นางแพตริเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.มีแผนกู้เงินจากต่างประเทศ วงเงินประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,500 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท) ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งจะกู้เป็นสกุลเงินเยน อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาเงินกู้ 15 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้น 4 ปีแรก

“JICA อยู่ระหว่างเสนอเรื่องขอรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่ออนุมัติวงเงิน โดยคาดว่าจะทราบผลการอนุมัติวงเงินดังกล่าวภายในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งเงินกู้จากญี่ปุ่นนี้ เป็นแพ็กเกจที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาช่วยเหลือทางการเงินให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เท่ากันทุกประเทศ ไม่ใช่ให้เฉพาะไทยเป็นกรณีพิเศษ” นางแพตริเซียกล่าว

แพตริเซีย มงคลวานิช
แพตริเซีย มงคลวานิช

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น ปัจจุบัน ครม.ได้อนุมัติวงเงินกู้ไปแล้ว ประมาณ 4.02 แสนล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 76.5% ของวงเงินที่อนุมัติ ทำให้คงเหลือวงเงินที่กู้ได้อีก 97,000 ล้านบาท ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 59.88% ซึ่งหากกู้เต็มวงเงินหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 จะอยู่ที่ 62% ภายใต้สมมุติฐานจีดีพีโต 3.5-4.5%

“วงเงินที่เหลืออยู่ จะเพียงพอสำหรับการรับมือโควิด-19 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแผนกู้เงินเพิ่มในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ปิดประเทศ ดังนั้น การกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิดคงไม่มีแล้ว”

นอกจากนี้ ในเร็ว ๆ นี้ สบน.จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 โดยจะมีการบรรจุแผนการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอีก 10,000 ล้านบาท รวมกับของเดิมเป็น 30,000 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้บรรจุแผนกู้เงินของกองทุนไว้แล้ว 20,000 ล้านบาท

“การกู้เงินของกองทุนน้ำมัน สบน.ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกัน แต่การกู้เงินดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ แต่ในการชำระหนี้คืน กองทุนน้ำมันจะเป็นผู้ดำเนินการชำระหนี้เอง”

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวด้วยว่า สบน.มีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์ลอตใหม่ ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2565 นี้ เนื่องจากยังมีวงเงินเหลืออยู่ 4 หมื่นล้านบาท จากที่ผ่านมา ปีงบประมาณนี้ได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์แล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด และรอจังหวะที่เหมาะสม

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ จะเสนอ ครม.ในเดือน มี.ค.นี้ โดยจะมีการเพิ่มวงเงินกู้ของกองทุนน้ำมันอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับเพิ่มจากประมาณการเดิมที่ 62.16% เล็กน้อย และจะมีการปรับลดการกู้เงินในส่วนอื่น ๆ ลงด้วย อย่างเช่น โครงการที่ดำเนินการล่าช้ากว่าแผน ทำให้ยังไม่เบิกเงินกู้ เป็นต้น

“ขณะนี้มีหลายแบงก์ที่แสดงความสนใจปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมัน ซึ่งคงเร่งกู้เงินตามวงเงินเดิม 20,000 ล้านบาทก่อนภายในเดือน มี.ค.นี้ เพราะอยู่ในแผนบริหารหนี้อยู่แล้ว เพื่อรับมือราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีไปแล้ว ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท ค่อยกู้ทีหลัง ต้องรอ ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้ก่อน” แหล่งข่าวกล่าว