เงินบาทอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า-ผลประกอบการ บจ. Q1

หุ้น ภาษี เงินบาท

เงินบาทยังคงอ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รับท่าทีหนุนการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หุ้นไทยปรับตัวลงตามการปรับพอร์ตลดเสี่ยงของนักลงทุนก่อนหยุดยาว จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า สถานการณ์โควิด-19  สถานการณ์ตึงเครียดรัสเซียและยูเครน ผลประกอบการไตรมาส 1/65 ของบจ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ของตลาดในประเทศ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินเยนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ปรับแข็งค่าขึ้นตามการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดมีท่าทีสนับสนุนความเป็นไปได้ที่จะมีการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้เพื่อสกัดการทะยานขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐฯ

นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

เงินบาท-16 apr

ในวันอังคาร (12 เม.ย.) เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.70 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 เม.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยเพียง 347.29 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET OUTFLOW ในตลาดพันธบัตร 6,710.30 ล้านบาท (มาจาก การขายสุทธิพันธบัตร 3,510.30 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 3,200 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนีเบื้องต้นของ PMI เดือนเม.ย. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของธนาคารกลางจีน และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 และตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากนักลงทุนมีการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงก่อนวันหยุดยาว ระหว่างรอติดตามผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ การปรับตัวลงของหุ้นไทยยังสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขณะที่สถานการณ์โควิดในภาพรวมของไทย รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ

ห้นไทย set-16apr

ในวันอังคาร (12 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,674.34 จุด ลดลง 0.69% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,805.73 ล้านบาท ลดลง 18.23% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.27% มาปิดที่ 655.67 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,665 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,685 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 ของบจ. โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร