เงินเฟ้อสหรัฐ พุ่งทะยาน 8.5% สูงสุดในรอบ 40 ปี เจอผลกระทบ รัสเซีย-ยูเครน

เงินเฟ้อสหรัฐ
Inflation soared (AP Photo/Nam Y. Huh)

เฟ้อแล้วเฟ้ออีก สหรัฐอเมริกาอ่วมปัญหาภาวะเงินเฟ้อ เจอศึกรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบราคาน้ำมันและอาหารไปทั่วโลก และสหรัฐก็ไม่รอดพ้นเช่นกัน

วันที่ 12 เมษายน 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานการแถลงสถิติของสำนักงานแรงงานสหรัฐ เมริกา ว่า ดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI ของสหรัฐ สูงขึ้น 8.5% เมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ทะยานอยู่ที่ 7.9% นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับจากเดือนธันวาคม 1981 (พ.ศ. 2524)

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขึ้นราคาพลังงานและอาหารที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งในยูเครน จึงทำให้สินค้าทั่วโลกขึ้นราคา เช่นเดียวกับราคาบ้านที่พุ่งขึ้นเช่นกัน

เงินเฟ้อสหรัฐ
REUTERS/Rick Wilking/File Photo

เมื่อเดือนก่อน ราคาแก๊สของสหรัฐสูงขึ้นมากกว่า 18% และหากเทียบปีต่อปี ราคากระฉูดถึง 48%.ส่วนราคาอาหารและสินค้าด้านพลังงานอื่นๆ สูงขึ้น 6.5% เมื่อนับรวม 12 เดือนที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม ทะยานขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2525 

เมื่อปีก่อน ราคาพลังงานสูงขึ้นแล้ว 32% ส่วนราคาอาหารเพิ่ม 8.8%.เป็นอัตราการเพิ่มสูงสุดนับจากเดือนพฤษภาคม 1981

โจ บรูซูเอลาส หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ บริษัท RSM US มองว่า แรงดันของภาวะเงินเฟ้อน่าจะหาจุดพีกได้เร็วๆ นี้ อย่างไรก็นั่นไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์จะใกล้คลี่คลาย ภาวะข้าวของแพงจะยังลากยาวในเศรษฐกิจสหรัฐ ยิ่งหากสหภาพยุโรปเลือกจะตัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย ราคาน้ำมันโลกจะพุ่งขึ้นอีกอย่างแน่นอน

A vehicle drives past a BP gas station in Washington, DC, on April 12, 2022.   (Photo by Stefani Reynolds / AFP)

บรรดาผู้วางนโยบายให้รัฐบาลต่างวิตกว่าราคาสินค้าที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนอเมริกันอย่างไร ผลการสำรวจผู้บริโภคจากธนาคารกลางสหรัฐในนิวยอร์ก พบว่า การคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในปีข้างหน้าจะไต่ไปถึงระดับสูงสุดเท่าที่มีการสำรวจมา

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เริ่มใช้นโยบายจตรึงเข้มทางการเงิน ด้วยการยุติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์ผลกระทบโควิด รวมถึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ

แต่เครื่องมือของการดำเนินนโยบายการคลังไม่รวดเร็ว ต้องอาศัยเวลากว่าจะมีประสิทธิภาพ นั่นหมายถึง ต้องรออีกพักหนึ่งจนกว่าผู้บริโภคจะถอนใจแบบโล่งอก