‘เงินเฟ้อ’ สูงทะลุเมฆ สะเทือนพลังบริโภคชาวอเมริกัน ?

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เศรษฐกิจอเมริกาถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของผู้บริโภคเป็นหลัก จากบรรดานักช็อปปิ้งที่เทเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ไอโฟน รถยนต์ โซฟา ไปจนถึงการใช้จ่ายเงินเพื่อสัมผัสประสบการณ์ต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหารนอกบ้าน

แต่ปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ของสหรัฐ คือ “เงินเฟ้อสูงมาก” อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจน้อยลงที่จะใช้จ่าย นี่เป็นประเด็นที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนกังวล คำถามก็คือเงินเฟ้อจะทำให้พลังการใช้จ่ายมหาศาลของชาวอเมริกันสะดุดหรือไม่ในทางปฏิบัติ

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเกี่ยวกับอารมณ์ในการจับจ่ายของผู้บริโภคอเมริกัน ซึ่งดำเนินการสำรวจครัวเรือนที่มีรายได้ 1 แสนดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป พบว่าช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2022 “ความมั่นใจลดลงมากที่สุด” ในรอบหนึ่งทศวรรษ

เหลือเพียง 61.7% เมื่อบรรดาผู้บริโภคเริ่มวิตกกังวลว่าเงินเฟ้อสูงจะกระทบต่อเงินในบัญชีของพวกเขาแค่ไหน ซึ่งพบว่าผู้บริโภคที่ถูกสำรวจประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่า เงินเฟ้อกระทบต่อการเงินของพวกตน

“ริชาร์ด เคอร์ติน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่นำทีมสำรวจครั้งนี้ระบุว่า ความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดลงนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นสัญญาณของการใช้จ่ายที่ลดลงอย่างยาวนานของผู้บริโภค ซึ่งน่าวิตกสำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐ เพราะการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็น 70% ของกิจกรรมเศรษฐกิจ

ไม่เพียงแค่ ริชาร์ด มาร์ติน เท่านั้นที่กังวลว่า ปัญหาเงินเฟ้อจะกระทบต่อพลังการจับจ่ายของผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังมี “เจมส์ บุลลาร์ด” ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ที่ออกมาส่งเสียงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เฟดต้องลงมืออย่างรวดเร็วและเฉียบขาดในการควบคุมเงินเฟ้อและช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น เงินเฟ้อในขณะนี้ไม่ดีอย่างมากสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

ไมเคิล วิลสัน หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านหุ้นของมอร์แกน สแตนลีย์ ชี้ว่าการที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายลดลงอาจสร้างความเสี่ยงต่อตลาดหุ้น ดังนั้น หากไม่ใส่ใจประเด็นนี้ถือว่าทำผิดครั้งใหญ่

ตนเชื่อว่าการที่ผู้บริโภคมีสัญญาณว่าจะใช้จ่ายลดลง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การปรับฐานของตลาดหุ้นยังไม่สะเด็ดน้ำในขณะนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนมีความสำคัญมากกว่าเรื่องเงินเฟ้อที่เผยแพร่กันออกมาอย่างกว้างขวาง

“เราคิดว่าตอนนี้ตลาดหุ้นกำลังโฟกัสไปที่การเติบโตหรือไม่เติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำและเงินเฟ้อสูงก็คงเป็นการยากที่เฟดจะควบคุมเงินเฟ้อได้ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้อจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตน้อยลง”

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนออกมาไล่ ๆ กับรายงานเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่สูงสุดรอบ 40 ปีที่ 7.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ จนทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมถึง 0.5% แทนที่จะเป็น 0.25%

อย่างไรก็ตาม มุมมองที่ว่าความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดลงจะกระทบต่อการใช้จ่าย ตลอดจนกระทบต่อการเติบโตโดยรวมหรือไม่นี้ ยังมีความเห็นแตกต่างกัน บางฝ่ายเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังเติบโตแข็งแกร่ง

แม้ว่าจะโตช้าลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยบวกหลายอย่างยังคงมีอยู่ รายได้บริษัทต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วยังแข็งแกร่ง ตลาดการจ้างงานยังน่าประทับใจอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันปัจจุบันชาวอเมริกันก็ออมเงินน้อยลงกว่าช่วงต้นการระบาดของโควิด-19 บรรดาธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ลูกค้าของธนาคารยังมีเงินสดในมือมาก ส่วนนักวิเคราะห์บางรายก็ชี้ว่า ในบางครั้งอารมณ์ที่จะใช้จ่าย กับการใช้จ่ายจริงจะสวนทางกัน กล่าวคือบางทีการใช้จ่ายจริงเพิ่มขึ้นขณะที่อารมณ์ลดลง หรือบางทีก็กลับกัน

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างหวังว่าเงินเฟ้อจะถึงจุดสูงสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเดือนมกราคมคือจุดสูงสุดแล้วหรือไม่ หรือว่าจะยังสูงขึ้นอีกในเดือนต่อ ๆ ไป

ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อกำลังท้าทายรัฐบาล “โจ ไบเดน” ที่จะต้องหาทางสร้างความพอใจให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐกำลังเร่งมือยุทธศาสตร์ “Build Back Better” เพื่อแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน