กูรูแนะกลยุทธ์การลงทุน ฝ่าวิกฤตสงคราม-เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย

ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ วศิน วณิชย์วรนันต์ สาห์รัช ชัฏสุวรรณ
ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ วศิน วณิชย์วรนันต์ สาห์รัช ชัฏสุวรรณ

เริ่มมีการพูดกันมากขึ้นว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะเมื่อสงครามรัสเซียกับยูเครนเป็นตัวเร่ง จากผลกระทบที่ทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ราคาพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นจนน่าเป็นห่วง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในระยะข้างหน้า

โดย “สาห์รัช ชัฏสุวรรณ” ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด วิเคราะห์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลังจากที่ต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 มาก่อนนี้

สาห์รัช ชัฏสุวรรณ
สาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด

โดยหลายประเทศเริ่มปรับตัวและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นพื้นฐานเศรษฐกิจในปี 2565 จะต้องดีกว่าปี 2564 แต่สงครามรัสเซียกับยูเครนเข้ามาเป็นอีกปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวในปีนี้

จากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ก็ต้องชะลอออกไป เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันที่แพงขึ้น ซึ่งไปกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัว

“ยังมีความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและสงครามที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งแม้สงครามอาจจะจบลง แต่สงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและรัสเซียอาจจะยังไม่จบ ต้องติดตามว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอีกหรือไม่

แต่ยังเชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ จะมีทางออก เนื่องจากเศรษฐกิจที่บอบช้ำและประชาชนก็เดือดร้อน ดังนั้นเศรษฐกิจคงไม่ได้แย่ถึงขั้นถดถอย แต่อาจจะเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงมากกว่า” นายสาห์รัชกล่าว

สำหรับในด้านการลงทุน “สาห์รัช” ให้มุมมองว่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการรอคอยผลตอบแทนการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน ซึ่งไม่เท่ากัน หากเป็นนักลงทุนระยะยาว

จากปัจจัยเรื่องสงครามที่กระทบอยู่และทำให้บางประเทศปรับตัวลงแรง ก็จะมองเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยเก็บสะสมการลงทุนเข้าพอร์ต ส่วนนักลงทุนระยะสั้นอาจจะต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากสถานการณ์เรื่องสงคราม เงินเฟ้อ และราคาน้ำมันยังไม่ตกผลึก

ขณะที่ “วศิน วณิชย์วรนันต์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ. กสิกรไทย จำกัด ชี้ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องที่น่ากังวลจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพราะหากยิ่งยืดเยื้อออกไปก็ยิ่งกระทบห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป

วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ. กสิกรไทย
วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ. กสิกรไทย

ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกเจอปัญหาราคาพลังงานที่แพงขึ้น บวกกับสภาวะเงินเฟ้อที่นำไปสู่ความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจจะถดถอย แต่ปัจจุบันเรื่องของตัวเลขการจ้างงานยังออกมาค่อนข้างดี จากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นมากขึ้น ขณะที่ภาวะ Inverted yield curve ที่เกิดขึ้น มองว่ายังเป็นในเชิงเทคนิคและน่าจะเป็นความผันผวนระยะสั้น

“ถ้าเศรษฐกิจโลกถดถอยลง คาดว่าจะไม่กระทบต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากไทยฟื้นตัวจากโควิดค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แม้ปีนี้ไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน แต่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวดีกว่าปีที่แล้ว” นายวศินกล่าว

“สำหรับคำแนะนำการลงทุนปีนี้ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง เน้นลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต้องดูจังหวะในการเข้าสะสม โดยตลาดที่น่าสนใจจะเป็นตลาดหุ้นจีน, ตลาดหุ้นไทย

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐต้องรอจังหวะในช่วงที่มีการปรับตัวลงมาสามารถทยอยเข้าซื้อได้ ขณะที่ยุโรปอาจจะเลี่ยงไปก่อนเนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อที่จะเข้ามากระทบ” นายวศินกล่าว

ด้าน “ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ทาลิส จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะถดถอยลง หากราคาน้ำมันยังยืนอยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลานาน

ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ทาลิส จำกัด

และความยืดเยื้อในสงครามรัสเซียกับยูเครนที่จะส่งผลให้ซัพพลายสินค้าต่าง ๆ หยุดชะงักหรือชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตปุ๋ยค่อนข้างมาก อาจทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น

จะยิ่งไปกดดันเงินเฟ้อและดอกเบี้ยให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไป จนกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะการเติบโตชะลอตัวลง

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดถดถอยจะกระทบการส่งออกและการอุปโภคบริโภคของไทยให้ชะลอตัว แต่ในแง่ของภาพรวมเศรษฐกิจไทยอาจจะมีตัวช่วยคือเรื่องของการท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมาเปิดประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถึงแม้ว่าอาจจะมีปัจจัยลบจากภายนอก แต่ปัจจัยในเชิงบวกจากการท่องเที่ยวน่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยได้

“จากความเสี่ยงดังกล่าวทำให้นักลงทุนต้องคัดเลือกและระมัดระวังมากกว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศหรือในไทย ควรเลือกธุรกิจที่สามารถปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ดี ยกตัวอย่างกลุ่มโรงพยาบาลซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของเงินเฟ้อ สงคราม หรือแม้แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)” นายประภาสกล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นภาพของภาวะเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งในแง่การลงทุน นักลงทุนคงต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยต้องติดตามข้อมูลและสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น