ดอลลาร์แข็งค่า หลังทำเนียบขาวส่งสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง

US dollar
(file photo) REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์แข็งค่า หลังทำเนียบขาวส่งสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่แบงก์ชาติคาดอัตราเงินเฟ้อของไทยจะทยอยลดลงในไตรมาส 4 ของปีนี้ และเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 เมษายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/4) ที่ระดับ 33.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/4) ที่ระดับ 33.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แสดงความกังวลว่า ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน มี.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ อาจพุ่งขึ้นอย่างร้ายแรง อันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน มี.ค.ในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย

ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะพุ่งขึ้น 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยทั้งดัชนี CPI พื้นฐานจะพุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวขึ้นอย่างผิดปกติในเดือน มี.ค. โดยสนามผู้ผลิตยานยนต์อเมริกา (AAA) ระบุว่า ราคาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้นแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.33 ดอลลาร์/แกลลอน เมื่อวันที่ 11 มี.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เพื่อชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 65 กนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 4.1% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้หมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มจะสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย กนง.มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี’66

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ มาจากผลของฐานที่ต่ำของราคาน้ำมันและมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี’64 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงในไตรมาส 4 ของปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.61-33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (12/4) ที่ระดับ 1.0867/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/4) ที่ระดับ 1.0924/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง1.0854-1.0888 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0860/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/4) ที่ระดับ 125.44/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/4) ที่ระดับ 125.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า ได้ปรับลดมุมมองด้านเศรษฐกิจของ 8 จาก 9 ภูมิภาคในญี่ปุ่น โดยอ้างถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อการบริโภคในภาคบริการและปัญหาคอขวดด้านอุปทาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 125.11-125.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 125.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือนมีนาคม (12/4), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนมีนาคม (13/4), ดัชนียอดขายปลีกสหรัฐเดือนมีนาคม (14/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ