พาณิชย์กางแผนรับมือ ทองคำต้นเหตุ Q1 ขาดดุลการค้า 1.88 แสนล้าน

ส่งออกทางเรือ

การเปลี่ยนผ่าน ครม.เศรษฐา 2 ที่ปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤตจีโอโพลิติกส์ทั่วโลก โดยไตรมาส 2 จะเป็นการนับหนึ่งการทำงานเพื่อพิสูจน์ฝีมือของ ทีมงานคุณภาพ ที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดี โดยเฉพาะผลงานการขับเคลื่อนตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ ที่เพิ่งขยับสู่ “แดนลบ” ระดับ 2 ดิจิตเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากการส่งออกล่าสุดในเดือนมีนาคม 2567 ที่ทำได้ 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่า 892,290 ล้านบาท

การนำเข้า มูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญ ขยายตัว 5.6% ดุลการค้าขาดดุล 1,163.3 ล้านเหรียญ ซึ่งเทียบเป็นเงินบาท การส่งออกมูลค่า 892,290 ล้านบาท หดตัว 6.6% การนำเข้ามูลค่า 944,828 ล้านบาท ขยายตัว 10.7% และขาดดุลการค้า 52,538 ล้านบาท

ส่องภาพไตรมาส 1

การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญ หรือหดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง “ห่างไกล” จากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ว่า จะเติบโต 1-2% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญ หรือขยายตัว 3.8% และขาดดุลการค้า 4,475.2 ล้านเหรียญ หดตัว 0.2% ซึ่งเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 1.3%

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า หากคำนวณเป็นเงินบาท จะพบว่าไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 2,504,009 ล้านบาท ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 2,692,023 ล้านบาท ขยายตัว 8.2% และไทยขาดดุลการค้า 188,014 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตรา “ขาดดุลการค้าที่สูงสุด”

สินค้าอุตสาหกรรม 80% ติดลบ

หากพิจารณารายละเอียดการส่งออกสินค้าแต่ละประเภทในไตรมาส 1 จะพบว่า สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมสัดส่วน 79.8% ของการส่งออกทั้งหมด ส่งออกได้ 56,645.6 ล้านเหรียญ หรือติดลบ 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 10,056.8 ล้านเหรียญ หดตัว 6.6% จากการส่งออกรถยนต์ทุกประเภท “ติดลบหมด”, เครื่องใช้ไฟฟ้า 7,383.8 ล้านเหรียญ ติดลบ 4.9%, สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ 4,115.4 ล้านเหรียญ ติดลบ 3.2%,

Advertisment

เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก 3,166.4 ล้านเหรียญ ติดลบ 2.5%, ผลิตภัณฑ์ยาง 3,337.2 ล้านเหรียญ ติดลบ 2.8%, เคมีภัณฑ์ 1,870.2 ล้านเหรียญติดลบ 9.1%, เฟอร์นิเจอร์ 328.1 ล้านเหรียญ ติดลบ 1%, หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด 186 ล้านเหรียญ ติดลบ 1.3%

ขณะที่สินค้ากลุ่มแร่และเชื้อเพลิง สัดส่วน 3.5% ส่งออกได้ 2,469.9 ล้านเหรียญ ติดลบ 2.4% โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป 2,051.8 ล้านเหรียญ หรือลดลง 3.5%

ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16.7% ของการส่งออกทั้งหมดนั้น ไทยสามารถส่งออกได้ 11,879.8 ล้านเหรียญ ติดลบ 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่งออกได้ 938.7 ล้านเหรียญ ติดลบ 20.8% ในเชิงปริมาณ 1.89 ล้านตัน ลดลง 40.2%, สินค้าอาหาร 5,888.5 ล้านเหรียญ ติดลบ 2.6%,

ผลไม้สด ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ส่งออกได้ 1,380.1 ล้านเหรียญลดลง 3.9%, สุกรแช่เย็นแช่แข็ง 1.9 ล้านเหรียญ ติดลบ 27.1%, น้ำตาล 772.9 ล้านเหรียญ ติดลบ 35.5% ในเชิงปริมาณทำได้ 1.3 ล้านตัน หรือติดลบ 46%

Advertisment

ส่งออกไทย

ตลาดส่งออกสำคัญ

ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ในไตรมาส 1 จะมีเหตุผลที่ติดลบ 0.2% ดังนี้ ตลาดหลัก ซึ่งมีสัดส่วน 69.1% ของการส่งออกทั้งหมด แม้ว่าไทยจะทำได้ 49,079 ล้านเหรียญ ขยายตัว 0.4% แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า หลายประเทศในกลุ่มตลาดหลักติดลบ เช่น จีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10.4% ของตลาดทั้งหมด ส่งออกได้ 7,349.8 ล้านเหรียญ ติดลบ 5.1% (ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปีก่อน ตลาดจีนติดลบทั้งปี 0.8%) สะท้อนว่า สถานการณ์ในตลาดจีนยังไม่ฟื้น

ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 8.3% ส่งออกได้ 5,885.4 ล้านเหรียญ ติดลบ 9.0% (ซึ่งเท่ากับสถานการณ์ญี่ปุ่นน่าห่วงกว่าปีก่อนทั้งปีที่ยังสามารถขยายตัวได้ 0.1%) หรือตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด 24.4% ส่งออกได้ 17,290 ล้านเหรียญ ติดลบ 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดนี้ปีก่อนติดลบ 7.1% ส่วนตลาดที่เป็นบวก คือ สหรัฐ สัดส่วน 17.8% ของการส่งออกทั้งหมด มูลค่า 12,603.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% สหภาพยุโรป 27 ประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน 8.4% ของภาพรวมทั้งหมด มีการส่งออกไป 5,950.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.4%

กลุ่มตลาดรอง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมด มีมูลค่าส่งออก 21,271.7 ล้านเหรียญ ขยายตัว 2.2% ในภาพที่บวกนั้น แต่การส่งออก ตลาดเอเชียใต้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4.4% ส่งออกได้ 3,127.9 ล้านเหรียญ ติดลบ 3.2% โดยเฉพาะอินเดีย ที่ส่งออกได้ 2,585.3 ล้านเหรียญ ติดลบ 3.2% , ตลาดตะวันออกกลาง ส่งออกได้ 2,909.2 ล้านเหรียญ ติดลบ 5.1%, แอฟริกา ส่งออกได้ 1,490.6 ล้านเหรียญ ติดลบ 17.8%, ละตินอเมริกา 2,450.4 ล้านเหรียญ ติดลบ 2.9%, สหราชอาณาจักร 953.7 ล้านเหรียญ ติดลบ 10.5%

ส่วนตลาดรองที่เหลือยังเป็นบวก ได้แก่ ฮ่องกง 3,110.3 ล้านเหรียญ เติบโต 23.5%, ออสเตรเลีย 3,783.8 ล้านเหรียญ เติบโต 22%, รัสเซียและ CIS 46.4 ล้านเหรียญ เติบโต 22.9% และแคนาดา 512.4 ล้านเหรียญ เติบโต 7.8%

ส่องการนำเข้า Q1 โต 3.8%

ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของไตรมาส 1/2567 นั้น มีมูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 3.8% โดยหากดูรายชนิดสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจะพบว่า หมวดสินค้าทุน ซึ่งมีสัดส่วน 25.5% ของการนำเข้า มีการนำเข้า 19,243.7 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 15.5% ในกลุ่มนี้มีสินค้าเพียงชนิดเดียวที่นำเข้าเพิ่มขึ้น คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ นำเข้า 4,750.4 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 106.3%

ส่วนรายการอื่นที่ติดลบถัดมา คือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่มีสัดส่วนถึง 39.9% ของการนำเข้า มียอดนำเข้ามา 30,085.6 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 4.7% โดยในหมวดนี้มีสินค้าที่ถูกนำเข้ามาด้วยอัตราที่เติบโตมากขึ้น 5 รายการ คือ เครื่องเพชร, อัญมณี, เงินแท่งและทองคำ 3,980.7 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 57.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะ “ทองคำ” ชนิดเดียวนำเข้ามาถึง 2,776.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 95.4%

ขณะที่สินค้าแร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ นำเข้า 119. 8 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 0.1%, อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ นำเข้า 1,156.2 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 4.0%, ปุ๋ยและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 772.2 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 21.6% และอุปกรณ์และส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7,688.1 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 24.8%

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หรือที่มักจะเรียกว่า “สินค้าฟุ่มเฟือย” มีการนำเข้า 8,779.5 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 1.1% สินค้านี้คิดเป็นสัดส่วน 11.6% ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มนี้มีการนำเข้าผักและผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ 985.3 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 13%, กาแฟ ชา และเครื่องเทศ รวม 179.2 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 26.7%, เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์ สิ่งทอหมวดอื่น ๆ มูลค่า 713 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 11.5%, เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด 632.8 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 6%,

เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้าน 362.8 ล้านเหรียญ เติบโต 6.7%, สิ่งพิมพ์ 51.4 ล้านเหรียญ เติบโต 4.6% และหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น มูลค่า 1,151.7 ล้านเหรียญ เติบโต 0.6% ซึ่งกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของการนำเข้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ คิดเป็นสัดส่วน 17.3% ของการนำเข้าทั้งหมดนั้น ภาพรวมการนำเข้ามาในไตรมาส 1 มีมูลค่า 13,056 ล้านเหรียญ ติดลบ 4.2% ซึ่งในกลุ่มนี้มี น้ำมันสำเร็จรูป 1,018.1 ล้านเหรียญ ลดลง 10.4% และก๊าซธรรมชาติ 2,482.7 ล้านเหรียญ ลดลง 16.3% มีเพียง “น้ำมันดิบ” รายการเดียวในกลุ่มที่เพิ่มขึ้น 3.5% คิดเป็นมูลค่า 8,616.8 ล้านเหรียญ

ติดลบจากปี’66 ฐานสูง

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อธิบายว่า ฐานการส่งออกเดือนมีนาคม 2566 “เป็นฐานที่สูง” ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อ ปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

ส่วนแนวโน้มส่งออกไตรมาส 2 นายพูนพงษ์ยังมองว่า มีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวถึง 2% จากปัจจัยสินค้าเกษตรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในวัฏจักรฟื้นตัว กระแสพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง นอกจากนี้ยังได้แรงเสริมจากค่าเงินบาท 36-37 บาทต่อเหรียญ

พูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์

โดยแผนการขับเคลื่อนการส่งออกนั้น กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศได้เจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยในฮ่องกงเมื่อเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ได้เข้าหารือกับผู้บริหารของจีน เพื่อเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับผลไม้ไทยที่กำลังออกสู่ตลาดในเดือนเมษายน และการลงนามจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ระหว่างไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดตลาดในอนาคต

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้ตามเป้าหมาย