เศรษฐา มั่นใจ ผนึก Microsoft ปั้นไทย เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ

นายกฯ จับมือ Microsoft วางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค มั่นใจ สร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ปลายทางเป็นประเทศชั้นนำอุตสาหกรรมไฮเทค   

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ Plenary Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Microsoft Build AI Day Event” ตอนหนึ่ง ว่า ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากที่สุดในทศวรรษนี้ ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันความพร้อมของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม AI และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรม AI เติบโตในไทยอย่างเต็มที่

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยพร้อมสำหรับอนาคต ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมที่สุด โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและเส้นทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก

ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ อาหาร การบิน ยานยนต์แห่งอนาคต และการเงิน ทั้งนี้ ส่วนสําคัญของวิสัยทัศน์นี้ คือการเปลี่ยนประเทศให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคและโลก วิสัยทัศน์นี้เกี่ยวกับการดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งอนาคต และเพื่อรักษาระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย รวมถึง พัฒนาและจัดการโครงสร้างพื้นฐาน

Advertisment

ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งได้ดำเนินนโยบายสำคัญหลายประการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับสถานะไทยในโลก โดยรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ระยะที่ 2 ช่วงปี 2567-2570 เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังของ AI และการประมวลผลแบบคลาวด์ในประเทศ โดยดำเนินโครงการเสริมระบบนิเวศ AI ของไทย

นายเศรษฐากล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งครอบคลุมมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมด

รวมทั้ง รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยตระหนักดีถึงความต้องการโดยตรงของภาคธุรกิจในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึง นโยบายที่จะทำให้ ครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583)

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิตพลังงานสีเขียวใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ Utility Green Tariff ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย และในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำแบบบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างแซนด์บอกซ์แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

Advertisment

ยินดีที่ได้ทราบว่า ความมุ่งมั่นของไทยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพมาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย MOU ฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายในการบรรลุเป้าหมายนี้ในประเทศไทยด้วยกัน

“ผมยินดีที่ทราบว่าไมโครซอฟท์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลช่วยเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา และโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืน” นายกรัฐมนตนีกล่าว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป

ในตอนหนึ่งของการกล่าวเปิด นาย Satya Nadella ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Microsoft ให้คำมั่นว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย และพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะ AI ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการ AI Showcase จาก สำนักงานหลักประกันแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ใช้นวัตกรรม AI มาขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสุขภาพ มีบริการ Azure OpenAI Service  Azure Machine Learning และเทคโนโลยีอื่น ของไมโครซอฟท์มาพัฒนาเป็นช่องทางให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจนโยบายด้านสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง สามารถให้คำแนะนำด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ตรงกับความต้องการของแต่ละคน

พร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาล และบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อให้คนไทยกว่า 66 ล้านคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาลได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และซุ้มสุดท้าย กระทรวงการคลังได้นำ AI มาใช้เสริมประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายใน ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ และปูทางไปสู่การวางนโยบายที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมยิ่งขึ้น

ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความว่าการลงทุนของ Microsoft ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทั้งในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน สร้างการเติบโตของเศรฐกิจ คนไทยจะได้มีโอกาสยกระดับทักษะและฝีมือด้วยการทำงานในบริษัทระดับโลก นี่คืออนาคตของทุกคน

ต่อมาที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา เป็นประธานในงานเลี้ยงรับรอง the Exclusive Networking Lunch Microsoft Build : AI Day แก่นาย Satya Nadella ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น และคณะ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยงรับรองดังกล่าว นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยสาระสำคัญจากงานเลี้ยงรับรอง ดังนี้

นายเศรษฐากล่าวต้อนรับผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น และคณะ นายกรัฐมนตรีได้พบกับนาย Satya Nadella เมื่อปี 2566 ที่ซานฟรานซิสโก มีการหารือที่ประสบผลสําเร็จ และมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างไทย และไมโครซอฟท์ โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล ความพยายามด้านความยั่งยืน และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมุ่งเน้นที่การใช้ประโยชน์จาก AI และเทคโนโลยีคลาวด์ (cloud technology)

รัฐบาลเชื่อว่าความร่วมมือนี้สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นร่วมในการสร้างไทยให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล” รัฐบาลดำเนินการโดยทำสิ่งที่ต้องทำ เพื่อยกระดับไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิด สอดประสาน รับฟังความคิดเห็น รวมทั้งแก้ไขปัญหาให้ทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักธุรกิจไทย

ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หวังว่างานเลี้ยงอาหารกลางวันนี้จะเป็นเวทีที่ทุกคนสามารถแบ่งปันความเชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความคิดที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความก้าวหน้าในการพัฒนา AI และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิผล

นาย Satya ยืนยันไมโครซอฟท์พร้อมมีส่วนร่วมขับเคลื่อน สนับสนุนกิจกรรมในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ความร่วมมือของไมโครซอฟท์ในไทยมีมากว่า 2 ทศวรรษ และประสบความสำเร็จอย่างมาก พร้อมยืนยันพร้อมสนับสนุน เทคโนโลยี AI ในภาคธุรกิจ และภาครัฐ ผลักดันสู่ยุคใหม่แห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ