คลังหาแหล่งกู้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ มีพื้นที่กู้ได้อีก 1.3 ล้านล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คลังยังมีพื้นที่กู้เงินได้อีก 1.3 ล้านล้านบาท ชี้อาจหาวิธีนำงบประมาณจากแหล่งอื่นมาใช้ หลัง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 7 หมื่นล้าน ส่วน “คนละครึ่ง” เฟส 5 ยังเงียบ

วันที่ 21 เมษายน 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือเตรียมการหาแหล่งกู้เงินเพิ่มเติมกรณีที่มีความจำเป็น ว่า ในแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบฯ 65 กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเมื่อถึงสิ้นปีงบฯ จะมีหนี้สาธารณะอยู่ประมาณ 62% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไม่เกิน 70% และภายในปีนี้หากจีดีพีของประเทศยังมีมูลค่าอยู่ที่ระดับ 16.33 ล้านล้านบาท และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม จะยังสามารถมีพื้นที่ทางการคลังกู้เงินเพิ่มได้อีก 1.3 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานที่กำหนดไว้ 70%

อย่างไรก็ตาม เรื่องการกู้เงินนั้น แม้จะมีพื้นที่ให้กู้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เต็มทั้งหมด เพราะการกู้ต้องทำเท่าที่มีความจำเป็นจริง ๆ และดูทั้งความเหมาะสม วัตถุประสงค์การใช้เงิน แหล่งเงินงบประมาณอื่น รวมถึงต้องไม่สร้างภาระให้ฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว

ขณะที่รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจ้งว่า ปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้มีการแบ่งกรอบวงเงินสำหรับใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข 110,000 ล้านบาท ใช้เยียวยาช่วยเหลือประชาชนจากโควิด 220,000 ล้านบาท และงบฯสำหรับใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 170,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันรัฐบาลมีการอนุมัติและเบิกใช้เงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหลือกรอบงบประมาณที่ยังไม่อนุมัติเพียง 70,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหากจะนำมาใช้ในโครงการใดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หรืออาจหาวิธีนำงบประมาณจากแหล่งอื่นมาใช้ เช่น งบประมาณกลาง หรือเงินทุนสำรองจ่ายตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ให้อำนาจครม.อนุมัติใช้เงินได้ 50,000 ล้านบาท ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เป็นต้น”

ส่วนการทำโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ยังไม่มีการยืนยันจากกระทรวงการคลัง แต่ในกรณีหากมีการดำเนินการต่อจริง ๆ จะต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท เช่น กรณีภายใต้สมมุติฐานมีผู้ใช้สิทธิคนละครึ่งจำนวน 26 ล้านคน เติมเงินคนละ 1,000 บาท รัฐจะใช้เงินสบทบ 26,000 ล้านบาท คนละ 1,200 บาท รัฐจะใช้เงินสบทบ 31,200 ล้านบาท และ 1,500 บาท รัฐจะใช้เงินสบทบ 39,000 บาท

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถกู้เงินได้ อย่างไรก็ดี ในการกู้เงินนั้นจะต้องมีการตรากฎหมายพิเศษมารองรับและต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ต้องมีเหตุผล ความจำเป็น เร่งด่วน รวมทั้งต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ชัดเจนด้วย