“ธอส.-ออมสิน” ตรึงดอกกู้ กัดฟันอุ้ม “รายย่อย-SMEs”

โครงการ จับคู่กู้เงิน-ออมสิน

 

2 แบงก์รัฐ “ธอส.-ออมสิน” ประสานเสียงตรึงดอกเบี้ยเงินกู้เต็มกำลัง “ฉัตรชัย” ยันหาก กนง.ปรับขึ้นรอบเดียวแค่ 0.25% ธอส.จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อบ้านถึงสิ้นปี

ฟาก “วิทัย” คอนเฟิร์มออมสินจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นแบงก์สุดท้ายของระบบ ด้าน “ttb analytics” ห่วงเอสเอ็มอีกระทบหนักสุด ส่วนครัวเรือนจะมีภาระผ่อน “หนี้บ้าน” กับ “กู้ซื้อรถใหม่” เพิ่มขึ้น

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่มีการคาดการณ์กันว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ในการประชุมรอบหน้าในเดือน ส.ค.นี้

โดยหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงทาง ธอส.จะยังคงตรึงดอกเบี้ยเงินกู้เอาไว้ ซึ่งหาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยเพียงหนเดียว และไม่เกิน 0.25% ทาง ธอส.ก็สามารถตรึงดอกเบี้ยได้จนถึงสิ้นปี 2565 นี้

“เราจะตรึงดอกเบี้ยไว้ก่อน ถ้า กนง.ไม่ปรับขึ้นอีกรอบ ธอส.ก็สามารถตรึงดอกเบี้ยได้จนถึงสิ้นปี อย่างไรก็ดี ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้” นายฉัตรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ของ ธอส.อยู่ที่ 5.750% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 6.150% และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 5.900% ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2563

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ธนาคารออมสินจะพยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด โดยอาจจะเป็นธนาคารสุดท้ายในระบบที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือหากมีการปรับขึ้นก็จะปรับดอกเบี้ยขึ้นให้น้อยที่สุด เพื่อพยายามช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนในการรับภาระต้นทุนที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย

โดยหาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MLR, MRR และ MOR ซึ่งลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นลูกค้ารายใหม่ที่จะขอสินเชื่อ ขณะที่ลูกค้ารายเดิม เช่น ลูกค้าที่อยู่อาศัย ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่แล้ว และจะพยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด

อย่างไรก็ดี หากดูผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ในส่วนของภาระหนี้ลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบต่อภาระการผ่อนชำระที่มากขึ้นนัก เพราะการชำระหนี้ต่องวดยังคงเท่าเดิม แต่ระยะเวลาหรือเทอมอาจจะยืดออกไปเนื่องจากค่าผ่อนชำระอาจจะไปตัดดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น แต่ค่างวดจ่ายเท่าเดิม

“เราจะตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด อาจจะเป็นธนาคารที่ขึ้นดอกเบี้ยช้าที่สุดของระบบก็ได้” นายวิทัยกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ 6.150% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 6.245% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย MOR อยู่ที่ 5.995% ต่อปี

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยสำหรับกรณีนักลงทุน มองว่ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วตั้งแต่ต้นปี เพราะดอกเบี้ยตลาดปรับขึ้นไปแล้วจึงมีการรับรู้ด้านราคากันไปแล้ว

ขณะที่กลุ่มธุรกิจต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็น MLR กับ MOR ของแบงก์จะปรับขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็คงปรับขึ้นและจะทำให้วงเงินประเภท working cap. หรือ O/D ที่เป็นวงเงินระยะสั้นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะเจอภาระดอกเบี้ยมากขึ้นแน่นอน

“กลุ่มที่ใช้วงเงินประเภทนี้กันมากก็คือ เอสเอ็มอี มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มกู้ระยะยาวมากกว่า ดังนั้น คงต้องดูว่าเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบางอยู่ถ้าเจอต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอย่างไร” นายนริศกล่าว

นอกจากนี้ กรณีกลุ่มรายย่อย/ครัวเรือนหากเป็นการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือบัตรเครดิตจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเป็นดอกเบี้ยคงที่อยู่แล้ว แต่กลุ่มที่กู้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์จะได้รับผลกระทบ

โดยกลุ่มสินเชื่อรถยนต์จะกระทบคนที่กู้ใหม่ที่ภาระผ่อนจะสูงขึ้น เพราะถ้ากู้ไปก่อนแล้วดอกเบี้ยจะคงที่ ส่วนสินเชื่อบ้านหากพ้นระยะเวลาดอกเบี้ยคงที่แล้วก็จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ลอยตัว คือ ถ้าดอกเบี้ยขึ้นไป 0.50% ภาระการผ่อนจะเพิ่มขึ้น 10% ของเงินงวด