เปิดคำแถลง กนง. ส่งซิกถอนนโยบายการเงินผ่อนคลาย จ่อขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

กนง.ส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินผ่อนคลาย หลังคณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง คงดอกเบี้ย 0.50% รับเงินเฟ้อจ่อทอดยาว-เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน พร้อมปรับจีดีพีปี’65 ขึ้นเป็น 3.3% จาก 3.2% เปิด 3 มิติชั่งน้ำหนักก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย ชี้เงินเฟ้อเพิ่มสร้างภาระ 850 บาทต่อเดือน ห่วงกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบ เร่งถกหามาตรการลดทอนแรงกระแทก

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ดร.ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2565 ว่า คณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการ 3 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อปี

ปรับจีดีพีโต 3.3%

ดร.ปิติกล่าวว่า คณะกรรมการได้มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2565 เพิ่มเป็น 3.3% จาก 3.2% และในปี 2566 ขยายตัว 4.2% จากเดิมอยู่ที่ 4.4% โดยการปรับเพิ่มขึ้นมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/65 ออกมาค่อนข้างดี สะท้อนเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจปีนี้

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเร็วขึ้นปัจจุบันอยู่ที่ 1 ล้านคน คาดว่าปลายปีจะอยู่ที่ 6 ล้านคน จาก 5.6 ล้านคน และปีหน้าจะอยู่ที่ 19 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะถัดไป รวมถึงภาคการบริโภคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่เป็นแรงหน่วงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวลง ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้น และแรงส่งภาครัฐเริ่มทยอยลดลง ส่งผลให้โดยรวมตัวเลขไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

“เศรษฐกิจจะกลับไปช่วงก่อนโควิด หรือ Pre-COVID มองว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2566 แต่หากดูเศรษฐกิจจะกลับมาโตตามศักยภาพอาจจะต้องเป็นในปีถัดไป ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็มีการผ่องถ่ายจากเศรษฐกิจตะวันตกมาสู่เศรษฐกิจเอเชีย โดยเศรษฐกิจตะวันตกจะชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ”

เงินเฟ้อส่งสัญญาณทอดยาว-คาดจุดพีก Q3/65

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ จะเห็นว่าตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ค. อยู่ที่ 7.1% ออกมาสูงกว่าคาด กนง.จึงมีการปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จาก 4.9% เป็น 6.2% และปี 2566 จาก 1.7% เป็น 2.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาจากอุปทานและราคาพลังงาน ซึ่งสูงกว่าคาดและมีแนวโน้มทอดยาว จึงเป็นความเสี่ยงด้านสูงที่ชัดขึ้น โดย กนง.ได้พิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา พบว่าช่วงหลังมีการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่ขยายวงมากขึ้น และปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีตในแง่สินค้าในตะกร้าใกล้เคียงในปี 2548 และ 2550 และการเปลี่ยนแปลงเดือนต่อเดือนมีการเพิ่มขึ้น ไม่เห็นว่ามีความต่อเนื่องของการการปรับเพิ่มขึ้นของสินค้า แต่กระจุกตัวในหมวดอาหาร เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปทานจะทยอยปรับลดลงในปี 2566

อย่างไรก็ดี หากดูแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันที่ผันผวนและควบคุมได้ยาก กนง.จึงมีการปรับประมาณการสมมุติฐานน้ำมันดิบดูไบปีนี้จาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในปี 2566 ปรับจาก 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการยกขึ้นประมาณ 5-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยอัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดของปีนี้ แต่คาดว่าจุดพีกจะอยู่ที่ไตรมาสที่ 3/2565 แต่ตัวเลขไม่ถึง 2 หลัก และหลังจากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามการผลิตน้ำมันที่คาดว่าจะมีมากขึ้นตามตลาดโลก ซึ่งมองว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566 และทยอยลดลง โดยทั้งปีจะอยู่ภายใต้กรอบ

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงในด้าน Upside คือ ประมาณการได้ยากและควบคุมได้ยาก และจะมีแฟกเตอร์เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาเร็วขึ้นภายในไตรมาสที่ 4/2565 แต่ไม่เยอะมาก และปี 2566 จะปรับสูงขึ้น

“สตอรี่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขับเคลื่อนมาจากปัจจัยอุปทานและราคาพลังงาน แต่สูงกว่าคาดและทอดยาวมากขึ้น แต่สิ่งที่คณะกรรมการให้ความสำคัญและจับตาใกล้ชิด คือ เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ภายในกรอบนโยบายการเงิน และยังไม่มีประเด็นในส่วนของคาดการณ์ปานกลาง แต่เงินเฟ้อระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นตามข้อมูลจริง”

จ่อถอนคันเร่งนโยบายการเงิน

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะเห็นว่านโยบายการเงินในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและมีความชัดเจนขึ้น สะท้อนว่านโยบายที่ดำเนินในช่วงโควิด-19 ที่ผ่อนคลายจะต้องทยอยลง และเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติได้แล้ว ส่วนการตัดสินใจการดำเนินนโยบายจะมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะเป็นตัวแปรและช่วงเวลาที่จะตัดสินใจในการปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าหรือเร็ว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้ กนง.ถอนคันเร่ง จะดูเงินเฟ้อในระยะปานกลาง เพราะหากนโยบายการเงินอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน จะเป็นการเสริมไฟเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะกระทบต่อประชาชนผู้ประกอบการ และตลาดแรงงาน จึงจำเป็นต้องถอนคันเร่งนโยบายการเงินเพื่อความยั่งยืน

ขึ้นดอกเบี้ยต้องชั่งน้ำหนัก 3 มิติ

ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในคณะกรรมการ คือ การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ในแง่การปรับนโยบายการเงินในอนาคต โดยมีการชั่งน้ำหนัก 3 มิติด้วยกัน คือ

1.การชั่งน้ำหนักระหว่างการสนับสนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวและการดูแลเงินเฟ้อ ที่ผ่านมา กนง.ให้ความสำคัญในการดูแลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่เมื่อภาพของการฟื้นตัวเริ่มมีแล้ว และมีความชัดเจนมากขึ้น ก็อาจเห็นการผ่องถ่ายการดำเนินนโยบายการเงิน คงเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงในอนาคต และมาเสริมไฟให้กับเงินเฟ้อที่อาจจะมีในอนาคต เพราะสิ่งที่ กนง.ไม่อยากเห็นคือ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวร้อนแรงเกินไปในปีหน้า และเข้ามาซ้ำเติมปัญหาจากเงินเฟ้อ

ดังนั้น จุดยืนของการดำเนินนโยบายการเงิน จึงต้องมีการปรับ เพื่อถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่การชะลอเศรษฐกิจ แต่เป็นการถอนคันเร่ง เพื่อไม่ให้ซ้ำเติม และไม่ให้เร่งเศรษฐกิจมากเกินไป หลัก ๆ เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้น และฝังเข้าไปในระบบ จนทำให้ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้นขึ้น โดยไม่จำเป็นในระยะยาว

2.การดูไทม์มิ่ง หรือระยะเวลาที่เหมาะสมว่าจะปรับนโยบายการเงินเมื่อไร ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้มีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการจะดูความชัดเจน และความต่อเนื่องของการฟื้นตัว การที่จะรอความชัดเจนก็เป็นมุมมองหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ย จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

แต่อีกมุม ก็มีความเสี่ยง และไม่อยากขึ้นดอกเบี้ยช้าไป เพราะหากขึ้นช้าไป เศรษฐกิจอาจฟื้นเร็ว และไปเสริมไฟให้เงินเฟ้อปีหน้า อาจทำให้ต้องใช้ยาแรงในปีหน้า ซึ่งอาจมีผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยที่ไม่จำเป็น ดังนั้นจะต้องมีการชั่งน้ำหนัก ในเรื่องของระยะเวลาที่เหมาะสม

3.ผลการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่มีต่อผู้ประกอบการ ประชาชนเป็นอย่างไร ซึ่งมิติของการขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นการเพิ่มภาระด้านการเงินให้กับบางกลุ่มได้ แม้ปัจจุบันเสถียรภาพการเงินในระบบ สามารถรองรับการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ก็มีความอ่อนไหวหรือความเปราะบาง จากการขึ้นดอกเบี้ยบางกลุ่มได้ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หากเทียบเคียงภาระที่เกิดขึ้นกับครัวเรือน ระหว่างเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย พบว่า เงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่เพิ่มภาระให้มากกว่าค่อนข้างมาก หากเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ย

เงินเฟ้อเพิ่มดันภาระครัวเรือน 850 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ จากการทำประมาณการบนสมมุติฐานของ ธปท. พบว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน โดยรวมก็จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนประมาณ 850 บาทต่อเดือน หรือ 3.6% ของรายได้
แต่สมมุติ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 120 บาทต่อเดือน หรือ 0.5% ของรายได้ ซึ่งต่างกันประมาณ 7-8 เท่า

ดังนั้น ตัวเลขนี้สำคัญ เพราะสิ่งที่ กนง.เป็นห่วงมากที่สุด คือการที่เงินเฟ้อสูงขึ้น และยืนอยู่ในระดับที่สูง ยิ่งอยู่สูงนานเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายนานเท่านั้น หากขึ้นดอกเบี้ย แม้จะเพิ่มภาระขึ้นเล็กน้อย แต่ทำให้เงินเฟ้อในอนาคตกลับลงมา และทำให้เงินเฟ้อไม่อยู่นาน ก็เป็นสิ่งที่น่าจะคุ้มกับการดูแลภาระของประชาชน

หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ

แม้ว่า ณ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเทียบกับโลกในระยะยาวยังถือว่าอยู่ในยุคดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นก็ถือว่ายังต่ำมากเมื่อเทียบในอดีต ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จึงมองว่ายุคดอกเบี้ยต่ำยังคงไม่หมด แต่ยุคดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ จะเริ่มหมดไป ซึ่งถ้าเทียบในอดีตเงินเฟ้อไม่ได้สูงมากขนาดนี้ เพราะยังคงมีปัจจัยระยะยาวที่จะต้องจับตามอง เช่น ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้ถูกเหมือนเมื่อก่อน หรือกระแสกรีนที่เปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาด จะหนุนต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะหนุนเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นได้

ถกมาตรการอุ้มกลุ่มเปราะบางลดแรงกระแทก

การปรับนโยบายการเงิน กนง.มองแบบแพ็กเกจแบบองค์รวม โดยดูทั้งมาตรการของ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของ ธปท.มีการออกมาตรการออกมาค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว สินเชื่อฟื้นฟู เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนและผู้ประกอบการจะใช้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันจะเห็นว่าสินเชื่อฟื้นฟูมีผู้เข้าใช้น้อยลง สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

โดยในระยะต่อไป คณะกรรมการก็จะดูความเหมาะสมและความเพียงพอของเครื่องมือ เพื่อลดทอนผลกระทบในกลุ่มเปราะบาง เช่น มาตรการในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่อาจจะต้องมีคลี่ดูว่าจะสามารถทำอะไรได้เพิ่มเติม

ส่วนบทบาทภาคการคลัง แม้ว่าแรงส่งจะน้อยลง เพราะภาพรวมการใช้จ่ายลดลงจากช่วงโควิด-19 ใน 2 ปีก่อนที่มีการใช้จ่ายสูงถึง 10% แต่หลังจากนี้ภาครัฐจะมีบทบาทรองรับแรงกระแทกเฉพาะจุดมากขึ้น ทั้งในเรื่องของค่าครองชีพที่ช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าเม็ดเงินจะน้อยลง แต่ความเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือจะมีมากขึ้น

ยันส่วนต่างดอกเบี้ยไม่กระทบฟันด์โฟลว์

แม้ว่าเศรษฐกิจประเทศหลักจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศห่างกัน แต่จะเห็นว่าพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์) ได้ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว โดยเฉพาะบอนด์อายุ 2 ปี และค่าเงินบาทก็ได้รับรู้ (Price in) ได้รับรู้ไปแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งค่าเงินบาทจากต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่าประมาณ 3% จะเห็นว่าตลาดหุ้นและบอนด์ยังคงเป็นบวกอยู่ ประกอบกับต่างชาติถือครองบอนด์เพียง 10% เท่านั้น