เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีโลก วูบเหลือ 2.9% เตือนศก.ซึมลึก-เงินเฟ้ออีกหลายปี

(Photo by Jim WATSON / AFP)

คำเตือนและข่าวร้ายมาซ้ำอีกครั้ง เวิลด์แบงก์ลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ เหลือ 2.9% จากพิษภัยหลายด้าน ทั้งสงคราม และเงินเฟ้อ ที่จะทำให้ชะงักกันไปทั้งโลก

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า ธนาคารโลก หรือ World Bank แถลงปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ เหลือ 2.9% จากเมื่อเดือนมกราคมที่คาดไว้ 4.1% โดยมีจุดหักเหจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน กระทบราคาน้ำมันและสินค้าทั่วโลก

WORLDBANK ธนาคารโลก โลโก้
ธนาคารโลก Photo by KAREN BLEIER / AFP

เวิลด์แบงก์เตือนว่าโลกจะเผชิญกับการขยายตัวที่ย่ำแย่ และราคาสินค้าสูงขึ้น ไปอีกหลายปี ด้วยปัจจัยเป็นพิษหลายตัวผสมกัน และจะทำให้หลายประเทศลำบากมากที่จะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ล้มป่วยจากสถานการณ์โควิด

คำเตือนที่น่าวิตกคือโลกจะเจอกับภาวะ stagflation (สแต็กเฟลชั่น) หรือเศรษฐกิจที่ชะงักงันและเงินเฟ้อ เหมือนกับยุคทศวรรษ 1970 ซึ่งทั้งราคาน้ำมันพุ่งสูงสกัดกั้นการขยายตัว และราคาสินค้าต่างๆ พุ่งสูงจากภาวะเงินเฟ้อ

เวิลด์แบงก์ระบุว่า การปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจเหลือ 2.9% ที่อาจส่งผลนานเป็นทศวรรษ มาจากการลงทุนที่อ่อนแอลงในหลายประเทศส่วนใหญ่ของโลก

Advertisment
ข้าวของในกรุงอังการา ตุรกี แพงขึ้น (AP Photo/Burhan Ozbilici)

นอกจากนี้ ศึกที่รัสเซียบุกยูเครนยิ่งซ้ำเติมทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง ดันให้ราคาสินค้าพุ่งสูง และเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้กับเงินเฟ้อ ดังนั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้จะยากเย็นแสนเข็ญเป็นครึ่งหนึ่งของอัตราในปีก่อน กว่าจะฟื้นตัวนิดหน่อยต้องลุ้นถึงปีหน้าและปีถัดไป (พ.ศ.2566 และ 2567)

 อีกมุมที่แสนเครียด คือคำเตือนจากเวิลด์แบงก์ว่า เศรษฐกิจจะดิ่งหัวทิ่มที่สุด หลังจากยุคเศรษฐกิจถดถอยที่เคยกระอักเมื่อ 80 ปีก่อน และสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก หากสงครามยูเครนทำลายการค้าและเครือข่ายการเงินโลก หรือ ราคาอาหารที่พุ่งสูงทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมในประเทศนำเข้าสินค้า

“ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อจะกัดกร่อนเสถียรภาพของชาติเศรษฐกิจรายได้ปานกลางและรายได้น้อยตามมาอีก” เดวิด มัลพาสส์ ประธานเวิลด์แบงก์ ในกรุงวอชิงตัน กล่าว

A photo shows petrol and diesel pumps with an ‘out of service’ notice at a petrol station in Dortmund, western Germany, on June 1, 2022.  (Photo by Ina FASSBENDER / AFP)

พร้อมเตือนว่า “จะมีความเสี่ยงร้ายแรงต่อสถานการณ์ที่ประชาชนหิวโหยหนักขึ้น หรือแม้แต่จะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงในบางพื้นที่ หากมีผลเลวร้ายที่สุด การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในอีกสองปีข้างหน้า จะเข้าสู่การดิ่งถึงศูนย์”

Advertisment

ในปีที่สามของสถานการณ์โรคระบาดโควิด เศรษฐกิจโลกยังเจอกับอุปสรรคที่เวิลด์แบงก์เรียกว่า “วิกฤตซ้อน” คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน, การที่จีนล็อกดาวน์และส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรม และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

ตอนนี้พื้นที่ที่น่ากังวลที่สุดอยู่เกินไปกว่าพรมแดนสหรัฐอเมริกาแล้ว ภาวะถดถอยในยุโรป มีความเป็นไปได้มาก เพราะทวีปนี้ต้องดิ้นรนหาที่รองรับผู้อพยพยูเครนเกือบ 7 ล้านคน และต้องรับมือกับตลาดพลังงานที่มีราคาพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้การส่งออกสินค้าธัญพืชผ่านทะเลดำยังสะดุด ทำให้ประเทศอื่น ๆ เช่น เลบานอน อียิปต์ และโซมาเลีย เดือดร้อนหนัก

ขณะที่จีนเผชิญความยากลำบากจากนโยบายควบคุมโควิดเป็นศูนย์ รวมถึงต้องต่อสู้กับภาวะอ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาสูงลิ่ว

การหั่นตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวิลด์แบงก์ เพิ่มความวิตกต่อสถานการณ์ย่ำแย่ ตลาดหุ้นหลักๆ รวมถึงในสหรัฐอเมริกา มีกระดานแดงมาตลอดในปีนี้ ส่วนสถาบันการเงินอย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ก็ลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงมาแล้วเช่นกัน เมื่อเดือนเมษายน

สหรัฐและประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ ต่างกระอักกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อันตรายจากยุคทศวรรษ 70 จะกลับมารีรันอีกครั้ง

หลังจากหลายประเทศเคยชื่นมื่นกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในทศวรรษก่อน นาทีนี้จะต้องเจอกับการดิ่งลงเหมือนสมัย 1970 และปี 1982 (พ.ศ.2525) ที่การขยายตัวลดลงไปต่ำเตี้ยแทบจะติดศูนย์ เพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก

แม้วันนี้เศรษฐกิจโลกต่างจากเมื่อยุค 1970 ในด้านสำคัญ ๆ แต่ราคาสินค้าที่สูงขึ้น อาการเจ็บปวดและซีดเซียวทางเศรษฐกิจขณะนี้แทบจะเหมือนกับเมื่อ 5 ทศวรรษก่อน

ราคาน้ำมันโลกเคยพุ่งกระฉูดเมื่อปี 1973-1974 (พ.ศ. 2516-2517) ก่อนที่จะเพิ่มสองเท่าขึ้นไปอีกในปี 1979-1980 (พ.ศ.2522-2523) ตอนที่มีการโค่นบัลลังก์พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ถ้าปรับตัวเลขตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว ราคาน้ำมันโลกตอนนี้ยังถือว่าเป็น 1 ใน 3 ของระดับที่เคยเกิดขึ้นในปี 1980