บาทแข็งค่า ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

เงินบาท ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่า ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ขณะที่เงินบาททิศทางยังคงอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้เกิน3% จากการส่งออกและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 7-10 ล้านคน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/6) ที่ระดับ 35.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/6) ที่ระดับ 35.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันต่อสภาคองเกรสว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสกัดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลง และเฟดกำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยมีเครื่องมือที่จำเป็นและมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคาสำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจของชาวอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.3% หากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/65 ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%

การที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือน ก.ค. และ 0.50% ในเดือน ก.ย. ก่อนที่จะปรับขึ้นเพียง 0.25% ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี’66 จะขยายตัวได้ 4.3-4.5% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้ 3% โดยมาจากแรงหนุนการส่งออก และท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 7-10 ล้านคน แต่ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.37-35.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (23/6) ที่ระดับ 1.0572/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (22/6) ที่ระดับ 1.0511/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0490-1.0581 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0510/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/6) ที่ระดับ 135.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/6) ที่ระดับ 135.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความต่างของอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างเฟดกับบีโอเจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.15-136.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 135.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน มิ.ย. จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน มิ.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ยอดขายบ้านใหม่เดือน พ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.25/-3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ