กสิกรไทยมองบาทอ่อนทะลุ 36 บาท เหตุเฟดรัวขึ้นดอกเบี้ย

เงินบาท

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินเงินบาทมีโอกาสหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์ หลังนโยบายการเงินเฟดรัวขึ้นดอกเบี้ยสิ้นปีแตะ 3.5% ชี้ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง สกัดเงินเฟ้อ-พยุงเงินบาทอ่อน หลังติดอันดับ 4 เงินผันผวน

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) จำนวน 2 ครั้ง จากเดิมมองว่าจะขึ้นเพียง 1 ครั้งภายในไตรมาสที่ 4/2565 แต่จากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.9% เพื่อต้องการจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปีดอกเบี้ยสหรัฐจะอยู่ที่ 3.5%

ดังนั้น จากนโยบายการเงินของเฟด ทำให้ ธปท. มีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากหากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และยิ่งเร่งเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ธปท. ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงิน (Intervene) เฉลี่ย 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าหรือผันผวนเกินไป เพราะหากดูเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากผลอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 5% และเงินบาทที่อ่อนค่าประมาณ 80-90% จะมาจากสาเหตุนโยบายการเงินของเฟด

“ก่อนปี 2019 ที่มีโควิด นักท่องเที่ยวเรามี 40 ล้านคน เงินทุนสำรองเราแข็งแกร่ง แต่ตอนนี้เงินบาทอ่อนไป เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เราตุนไว้มีพอสมควร เพราะเรามีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่ ลูกหนี้ เหมือนปี’40 แต่การแทรกแซงก็ควรใช้ให้เหมาะสม และไม่ให้เงินบาทผันผวนเกินไป

ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนเป็นอันดับที่ 4 โดยประเทศที่มีความผันผวนสุด คือ วอน-เกาหลี รองลงมา รูเปียห์-อินโดนีเซีย เปโซ-ฟิลิปปินส์ ซึ่งเราต้องการไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากหรือน้อยเกินไป”

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่า ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นผลบวกมากกว่าผลลบ แต่การปรับขึ้นคาดว่า ธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม 1 ครั้ง และรอดูผลลัพธ์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเกินไป และจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้งภายในเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่คิดว่าเหมาะสม สะท้อน ธปท.ช่วยอุดหนุนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

โดยกรอบประมาณการค่าเงินบาท มองว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทยังไม่ถึงจุดต่ำสุด โดยคาดว่าจุดอ่อนสุดมีโอกาสหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์ และจะทยอยกลับมาแข็งค่าในระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ จากสัญญาณการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขการท่องเที่ยว 4 เดือนแรกค่อนข้างดี มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วกว่า 7-8 แสนคน

และคาดว่าจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้การส่งก๊าซไปยังกลุ่มประเทศยุโรปถูกตัดขาด จะทำให้ในช่วงฤดูหนาวนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปจะเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นพอดี แม้ว่าอัตราการเข้าพักยังน้อยเมื่อเทียบก่อนโช่วงโควิด-19 แต่มีแนวโน้มดีขึ้น และคาดว่าท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ปกติภายในปี 2566

“การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลดีทำให้ค่าเงินบาทไม่ให้อ่อน เพราะถ้าปล่อยเงินเฟ้อก็จะขึ้น ต้นทุนต่าง ๆ ก็ปรับขึ้น ทำให้เงินในกระเป๋าของคนไทยน้อยลง ก็ถือเป็นเศรษฐกิจถดถอยด้วยตัวมันเอง แต่การขึ้นจะไม่เยอะ แต่เป็นแบบค่อย ๆ ขึ้น หากเป็นหมอ คือ จ่ายยา 1 ครั้งเพื่อรอดูผล

ดังนั้น ช่วงนี้เงินบาทยังไม่ต่ำสุด เพราะนโยบายการเงินเฟด ทั้งเรื่องดอกเบี้ยและการถอนสภาพคล่อง QT ทำให้เงินไหลออกบ้างส่วนในช่วง 1-2 เดือนนี้ แต่เชื่อว่าจุดอ่อนสุดน่าจะอยู่ที่ต้น ๆ 36 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนพลิกมาแข็ง 33.50 บาทต่อดอลลาร์จากแสงสว่างในเรื่องของท่องเที่ยว”