แบงก์แห่เชื่อมต่ออีคอมเมิร์ซ ขยายฐานข้อมูล-ปั๊มยอดปล่อยกู้ดิจิทัล

รู้จัก ”สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” สำหรับคนตัวเล็ก

 

แบงก์แห่เชื่อมข้อมูลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อัพสเกลฐานลูกค้าลุยปล่อยกู้ออนไลน์ งัดสินเชื่อ “Pay Now Buy Later” โปรดักต์ใหม่ทำตลาด “ไทยพาณิชย์” รุกดิจิทัลเลนดิ้งจริงจัง อัพเกรด “SCB Easy” ดึงข้อมูลทางเลือกวิเคราะห์สินเชื่อ ตั้งเป้าฐานลูกค้าแตะ 15 ล้านรายภายในสิ้นปี จ่อขยายปล่อยกู้บ้าน-รถยนต์เพิ่มเติม จากปัจจุบันเน้นบัตรเครดิต-พีโลน-สินเชื่อ SSME ขณะที่ “ซีไอเอ็มบี ไทย” ขยับปล่อยกู้ไมโครไฟแนนซ์ผ่านออนไลน์เชื่อมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

นายชาลี อัศวะธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชั่น “SCB Easy” มีปริมาณธุรกรรมมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดเพิ่มขึ้น 50-60% โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าใช้งานอยู่ที่ 13.3 ล้านราย ตั้งเป้าภายในสิ้นปีจะอยู่ที่ 15 ล้านราย ซึ่งธนาคารกำลังพัฒนาและลงทุนทางด้านข้อมูล (data) เพื่อยกระดับการทำธุรกรรมทางการเงินให้ได้มากกว่า “โอน เติม จ่าย” อย่างการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ช่องทางดิจิทัล (digital lending) ที่มีโอกาสเติบโตสูง

“เราเริ่มรุกสินเชื่อออนไลน์อย่างจริงจัง โดยใช้ข้อมูลทางเลือก ปัจจุบันธนาคารมียอดปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อม (SSME) แล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะทำได้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยในอนาคตจะขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์”

นอกจากนี้ ธนาคารยังอยู่ระหว่างเจรจากับแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) ขนาดกลางและขนาดใหญ่ประมาณ 5-6 ราย เพื่อเชื่อมต่อขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้มีฐานข้อมูลจำนวนมาก และจะช่วยคัดกรองลูกค้าให้ธนาคารได้ระดับหนึ่ง ซึ่งความร่วมมือที่มีไปแล้ว อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น, เจดี เซ็นทรัล และโรบินฮู้ด เป็นต้น โดยปริมาณธุรกรรมทางการเงินและสินเชื่อมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ธนาคารจะเชื่อมต่อธุรกิจกับแพลตฟอร์มผ่านการให้บริการ 2 ช่องทาง คือ 1.ตัวกลางในการชำระเงิน และ 2.การใช้สินเชื่อประเภท Pay Now Buy Later หรือถอนเงินสด เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้กำลังจะขยายตัวในไทย จึงเป็นโอกาสที่จะเติบโต ซึ่งคาดว่ามีความชัดเจนภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้” นายชาลีกล่าว

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะพัฒนาต่อยอดฟีเจอร์ หรือฟังก์ชั่นการทำธุรกรรมบนโมบายแอปพลิเคชั่นเพิ่มเติม นอกจากการทำธุรกรรมพื้นฐาน “โอน รับ จ่าย” หรือเปิดบัญชีเงินฝาก รวมถึงการซื้อขายสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน บริการจองซื้อหุ้นกู้ ทั้งในส่วนตลาดแรกและตลาดรอง

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญในเรื่องของสินเชื่อมากขึ้น สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัล (digital personal loan) โดยการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยที่ต้องการเงินวงเงินไม่สูงมาก หรือสภาพคล่องชั่วคราว สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมากขึ้น

“ภายในไตรมาสที่ 4/2565 ธนาคารจะพัฒนาฟีเจอร์การสมัครขอสินเชื่อบนแอป ‘CIMB THAI DIGITAL BANKING’ โดยไม่ต้องใช้เอกสาร ตั้งแต่ต้นจนจบ ทุกอย่างจะทำบนดิจิทัล ทั้งการยืนยันตัวตน (e-Consent) และการเซ็นสัญญา (e-Signature) เป็นต้น”

นอกจากนี้ ธนาคารกำลังเจรจากับแฟลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ 2 ราย รายแรกเป็นอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ในไทย โดยร่วมมือกันขยายฐานลูกค้าและสินเชื่อ เริ่มจากนำเสนอ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ สินเชื่อ Micro Finance วงเงินไม่เกิน 2 หมื่นบาท และ Pay Now Buy Later สำหรับลูกค้าที่ช็อปปิ้งออนไลน์บนแพลตฟอร์ม

“คาดว่าภายในปลายปีนี้น่าจะขึ้นระบบได้ โดยตอนนี้เรามีคนใช้แอปอยู่ที่ 2.65 แสนราย (ณ สิ้น พ.ค.) สิ้นปีนี้น่าจะได้ 3 แสนราย เป้าหมายปีนี้เราจะขึ้นระบบสินเชื่อ เพราะผู้กำกับเองก็เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มีฐานข้อมูลลูกค้า หากเรามีระบบสกอริ่ง และมีเครื่องมือในการคัดกรองลูกค้าและคุมความเสี่ยงได้ก็มองว่าเป็นตลาดที่เติบโตได้”

นายรถพร เอกบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารยังคงเดินหน้าให้ Krungsri Mobile Application หรือ KMA เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการให้บริการลูกค้า โดยภายในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าผู้ใช้ KMA ให้ได้มากกว่า 5 ล้านราย เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมบน KMA มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยเฉพาะธุรกรรมการโอนเงิน การใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การสแกนชำระเงิน เป็นต้น

“ปีนี้ธนาคารจะขยายบริการไปสู่การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ โดยยกระดับกระบวนการรับสมัครในรูปแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อให้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมถึงการขยายบริการไปสู่ลูกค้าในวงกว้าง เน้นการเชื่อมโยงการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนการต่อเชื่อมต่อแพลตฟอร์มไปยังร้านค้าหรือคู่ค้าของธนาคาร และการทำโปรโมชั่นที่ตรงใจโดยการนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อให้เข้าใจลูกค้า”