กำไรหุ้นแบงก์ Q2/65 ยังเติบโตดีอยู่ไหม ?

ประเมินกำไรหุ้นแบงก์ไตรมาส 2 และทิศทางครึ่งปีหลัง กับ “ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

วันที่ 11 กรกฎาคม  2565  เพิ่งผ่านพ้นกันไปกับไตรมาส 2 ของปี 2565 และก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปี ซึ่งคงหนีไม่พ้นต้องติดตามการรายงานผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ  โดย Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน EP : 24 นี้จะพาไปส่องกำไรหุ้นแบงก์ไตรมาส 2 เติบโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน พร้อมมุมมองช่วงที่เหลือของปีนี้ กับ “ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

Q : เรียกได้ว่าเพิ่งจะผ่านช่วงไตรมาส 2 กันมาแบบสดๆร้อนๆเลยนะคะ  ที่นี้สำหรับผลประกอบการช่วงไตรมาส 2 ของกลุ่มแบงก์หรือกลุ่มธนาคารพาณิชย์เราประเมินเอาไว้อย่างไรบ้าง

นายธนเดช กล่าวว่า ของเราเนี่ยจะดูแลธนาคารพาณิชย์อยู่ 7 แห่งก็จะมีธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ,ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ,ธนาคารกรุงไทย (KTB) ,ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เราประเมินกำไรของ 7 ธนาคารโดยรวมอยู่ที่ 42,000 ล้านบาท ก็ถือว่ากลาง ๆ ไม่ได้ดีมากแต่ก็ไม่ได้ดูขี้เหร่อะไร คือกำไรก็จะเติบโตสัก 19% YoY แต่ว่าจะปรับตัวลดลงสัก 5% QoQ

ซึ่งประเด็นหลักของกำไรที่เติบโตสูง YoY ก็จะมาจากตัวรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตตามสินเชื่อ  สินเชื่อยังเติบโตได้ดีแม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้ไม่เยอะนะครับ  ข้อที่ 2 ตัวสำรองหนี้ปรับตัวลดลงอันนี้คือ 2 ปัจจัยบวกที่ทำให้กำไรของแบงค์อ่ะเติบโตดี YoY แต่ QoQ กำไรก็จะลดลงประมาณสัก 5% ซึ่งเป็นผลมาจากหนึ่งตลาดทุน  (Capital Market)  ถ้าใครดู Capital Market ในไตรมาส 2 ไม่ค่อยดี ฉะนั้นรายได้ของโบรกเกอร์รายได้ของบลจ.ไม่ค่อยดีเท่าไหร่  แล้วก็ไตรมาส 2 พวกรายได้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้นแล้วก็สำรองหนี้ก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นนะครับ

Q : ในส่วนของกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยค่ะ ที่มีการผ่อนคลายมาตรการยกเลิกจำกัดแบงก์จ่ายเงินปันผล  มองว่าเป็นปัจจัยบวกหรือส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มแบงก์อย่างไรบ้าง

นายธนเดช กล่าวต่อว่า จริง ๆ เป็นผลดีนะครับเพราะว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เขาก็ระวังในแง่ของการใช้จ่ายเงินกองทุน   ซึ่งแบงก์ชาติเองเขาก็กังวลว่าเดี๋ยวถ้าเกิดว่ามีการจ่ายปันผลไปเยอะหรือว่าซื้อหุ้นคืน  มันจะมีผลกระทบต่อเงินกองทุน

ซึ่งความจริงแล้วธนาคารพาณิชย์ของไทยค่อนข้างจะมีการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอยู่แล้วคือเป็นสไตล์อนุรักษ์นิยม  แต่ว่าพอที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็เรียกว่ายกเลิกเกณฑ์ในการจ่ายปันผลที่อัพสู่ 50% ของกำไรสุทธิออกไป  ก็มองว่าแบงก์ไทยแข็งแรงแล้วก็น่าจะผ่านพ้นวิกฤตรอบนี้ไปได้

เราเลยมองว่า 1 ข้อดีก็คือในเชิงของ sentiment ก็ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้วก็ธนาคารพาณิชย์มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง  ข้อที่ 2 เมื่อเราประเมินดูตัวการจ่ายเงินปันผลในปี 2020 กับ 2021 มันต่ำกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดสถานการณ์โควิดประมาณสัก 10%

ฉะนั้นพอปี 2022 แบงก์ชาติก็บอกว่าโอเคล่ะคุณก็จ่ายได้ตามพื้นฐานของคุณแล้ว มันก็มีการคาดหวังว่านักลงทุนคงจะได้รับเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นยกเว้นเพียงแค่ธนาคารทิสโก้ที่เงินปันผลจ่ายอาจจะไม่ได้แตกต่างมาก เพราะว่าทิสโก้เป็นแบงก์ที่จ่ายปันผลสูงอยู่แล้วแต่แบงก์อื่น ๆ เราคาดหวังว่าในปี 2022 อัตราการจ่ายเงินปันผลน่าจะสูงขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อนักลงทุนที่ได้รับประโยชน์

Q : ที่นี้ในช่วงที่เหลือของปี ครึ่งปีหลังในกลุ่มแบงก์ประเมินแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องอย่างไรบ้าง

จริง ๆ  ถ้าเราแยกกันในส่วนของการเติบโตของสินเชื่อและก็ในแง่กำไร  สินเชื่อเราคิดว่าไตรมาสที่ 2 ก็จะเร่งตัวขึ้นดีกว่าไตรมาสที่ 1 แต่ว่าในครึ่งปีหลังเราคิดว่าแนวโน้มสินเชื่อจะดีขึ้น เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้วครึ่งปีหลังสินเชื่อของธนาคารจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของไตรมาสที่ 4 เพราะว่าเป็นช่วงที่ทุกคนก็จะมีงานเลี้ยง ใช้จ่าย

ปีนี้เองเป็นปีที่เราคิดว่าการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ฉะนั้นสินเชื่อจะเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างจะเป็นบวก   แล้วก็มีการเปิดประเทศมากขึ้นเราคิดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็จะรับรู้มากขึ้นอันนี้คือส่วนที่เป็นเชิงบวก แล้วก็หนี้เสีย (NPL) เองเราคิดว่าคงอยู่ในเทรนด์ที่ค่อนข้างจะทรงตัวหรือปรับลดลงเพราะว่าหลัก ๆ แบงก์เองก็มีการปรับโครงสร้างหนี้หรือว่ามีกรณีของการขายหนี้ออกไป

ซึ่งอันนั้นคือภาพที่เป็นบวกแต่ว่าโดยปกติแล้วไตรมาสที่ 4 จะเป็นไตรมาสที่แบงก์จะมีค่าใช้จ่ายการตลาดค่อนข้างสูง  แล้วอาจจะมีค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้ที่สูง ฉะนั้นถ้าเราเทียบกำไรครึ่งปีหลังกับครึ่งปีแรกแล้ว โดยปกติแล้วกำไรครึ่งปีหลังจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าถ้าเรามองในแง่ของตัวรายได้พวกสินเชื่อหรือแม้แต่ค่าธรรมเนียมจะฟื้นตัว แต่ว่าเป็นปกติที่ไตรมาสที่ 4 กำไรของแบงก์จะปรับลดลงเพราะว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น ภาพจะเป็นประมาณนี้ แต่ว่าเราคิดว่าครึ่งปีหลัง

โดยภาพรวมเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตดีขึ้นเพียงแต่ว่าปัจจัยที่เราอาจจะต้องประเมินมากขึ้นก็คือเรื่องของเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐหรือแม้แต่เมืองไทยเองเราคิดว่าการประชุมครั้งต่อไปเอง แบงก์ชาติเองก็คงจะเริ่มประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

Q : สุดท้ายกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ หุ้น Top pick ที่พี่ธนเดชอยากแนะนำเป็นตัวไหนบ้าง

สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์เราให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด โอเคล่ะมันมีปัจจัยเสี่ยงในแง่ของภาพตัวเศรษฐกิจ เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องดอกเบี้ยแต่จริง ๆ แล้วเราคิดว่าถ้าเป็นเศรษฐกิจของไทยเองทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะดีกว่าปีที่แล้วอย่างเเบงก์ชาติเองก็คาดการณ์ตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้โตถึง 3.3% ซึ่งดีกว่าปีที่แล้วที่โต 1.6% ฉะนั้นเทรนด์ของเศรษฐกิจดีขึ้น

ฉะนั้นนี่คือเหตุผลหนึ่งที่เรามองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นกำไรของแบงก์ปีนี้เติบโตสัก 14% NLP ratio ต่าง ๆ คิดว่าคงจะทรงตัวหรือว่าดีขึ้นในกรณีที่ถ้าเกิดแบงก์มีการที่จะขายหนี้ให้กับตัวบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) มากขึ้น แล้วก็การประเมินมูลค่า (valuation) เองแบงก์เองก็ไม่ได้แพง เทรดอยู่ที่ประมาณสัก 0.7 เท่า โดยค่าเฉลี่ย อันนี้คือภาพที่เป็นบวก

ดังนั้นเราชอบตัวธนาคารกรุงเทพ (BBL) แล้วก็ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บอกว่าในแง่ของธนาคารขนาดใหญ่นอกเหนือจากเรื่องของกำไรเรื่องของ NPL ที่ควบคุมได้ดีแล้ว ทิศทางดอกเบี้ยคงจะเริ่มเป็นขาขึ้นตั้งแต่ในไตรมาส 3 เป็นต้นไป ฉะนั้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็จะได้ประโยชน์ในแง่ของการปรับเพิ่มขึ้นของตัวกำไรขั้นต้น (margin) ของเขา ฉะนั้นธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็น 2 แบงก์ใหญ่เราคิดว่าน่าจะเป็นผลเชิงบวกในแง่ของตัว margin ที่ดีขึ้น

แต่ว่ายังย้ำอยู่การลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เองยังต้องจับตาดูตลาดทุนทั่วโลกเพราะว่าตอนนี้ทุกคนก็กลัวเศรษฐกิจถดถอยในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเรามองว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัว แต่ว่าด้วยความที่ตลาดทุนทั่วโลกมันอาจจะโฟกัสไปที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเยอะและจะมีผลกระทบต่อเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ตลาดทุนเองอาจจะมีความผันผวนสูง

ฉะนั้นแม้ว่าเราจะให้น้ำหนัก overweight  และก็ชอบธนาคารกรุงเทพกับธนาคารกสิกรไทย แต่ว่าปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องติดตามหนึ่งก็คือเรื่องของนโยบายการเงินของสหรัฐ แล้วก็ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น เงินเฟ้อหรือเศรษฐกิจสหรัฐที่ติดตามอยู่เหมือนกัน อาจจะเป็นสไตล์การซื้อเมื่ออ่อนตัวเมื่อเห็นความชัดเจนมากขึ้น เช่น เงินเฟ้อผ่านจุดพีกไปแล้ว แล้วก็การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเริ่มอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง ก็น่าจะทำให้ตัวตลาดทุนน่าจะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ก็อาจจะ buy on weekend แล้วก็ซื้อเป็นธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยเป็นหลัก