เงินบาทแข็งค่า จับตาประชุมธนาคารกลางอังกฤษ

ธนาคารกลางอังกฤษ(BOE)
Bank of England (Photo by CARLOS JASSO / AFP)

ค่าเงินบาทแข็งค่า จับตาประชุมธนาคารกลางอังกฤษ คาดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ธปท.ยันเงินเฟ้อที่ระดับ 2.5% รับได้ คาดอนาคตปรับลดลงหากราคาน้ำมันปรับลดลง ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 36.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/8) ที่ระดับ 36.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/8) ที่ระดับ 36.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากดัชนีภาคบริการที่ดีดตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการออกมาที่ระดับ 56.7 มากกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 53.5 และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.0% ในเดือน มิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 1.1% หลังจากดีดตัวขึ้น 1.8% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี

นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.3 ในเดือน ก.ค. จากระดับ 52.7 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในขณะที่ดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว

อย่างไรก็ตาม สมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงสนับสนุนให้คณะกรรมการเฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อไป ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐดีดตัวกลับขึ้นมาในช่วงกลางสัปดาห์ นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยจากความกดดันทางการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐ

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (5/8) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 258,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าระดับ 372,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนกรกฎาคมจะทรงตัวที่ระดับ 3.6%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ระดับ 2.5% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถรับได้ และหากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในอนาคต จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยกลับเข้าสู่ระดับปกติที่ 3-4% และจะส่งผลให้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยของไทยและประเทศสหรัฐต่างออกไป เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐอยู่ที่ 6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.02-36.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (4/8) ที่ระดับ 1.0165/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเอวันพุธ (3/8) ที่ระดับ 1.0184/85 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร

โดยบรรดานักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันนี้ แม้จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0156-1.0194 ดอลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0187/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/8) ที่ระดับ 133.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/8) ที่ระดับ 133.15/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.43-134.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.50/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ