ปิดศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ 30 ก.ย.นี้ รับแผนโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดจองคิวฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เผยศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ จะยุติการให้บริการในวันที่ 30 กันยายน 2565 หลังพบประชาชนยังคงทยอยมาฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 มติชน รายงานว่า พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า ตามแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของศูนย์ฉีดบางซื่อ ที่จะยุติในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ แต่ก็พบว่ายังมีประชาชนทยอยมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อเนื่อง จึงได้มีการหารือร่วมกับกรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ สธ. มีแผนการประกาศให้โรคโควิด-19 เปลี่ยนจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าเปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย ตั้งเป้าตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป ไว้ที่ร้อยละ 60-70 ของประชากร ซึ่งขณะนี้ยังฉีดได้ประมาณร้อยละ 50 เศษ ๆ จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้มากขึ้นกว่านี้

“เราจึงต้องเปิดศูนย์ให้บริการประชาชนเพื่อมากระตุ้นวัคซีนในช่วงนี้จนถึงวันที่ปิดศูนย์ เรื่องวัคซีนรุ่นใหม่ที่แต่ละบริษัทพัฒนาให้รับกับการกลายพันธุ์ของไวรัส ปรับรูปแบบวัคซีนให้ดีขึ้น ซึ่งเดิมผู้ผลิตประกาศว่าอาจจะออกมาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 แต่ตอนนี้อาจจะดีเลย์ออกไป ก็คาดว่าไทยจะมีวัคซีนรุ่นใหม่ในช่วงต้นปี 2566

ฉะนั้น คนที่ฉีดกระตุ้นไปก่อนหน้านี้เกิน 4 เดือน ภูมิคุ้มกันก็อาจจะตก เราก็เปิดให้บริการฉีดถึงวันที่ 30 กันยายน เพื่อเป็นการกระตุ้นรอวัคซีนรุ่นใหม่ ซึ่งหากสถานการณ์ในช่วงนั้นไม่มีการระบาดมาก ก็จะเป็นการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลทั่วไปได้” พญ.มิ่งขวัญกล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดบางซื่อกล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์ฉีดบางซื่อ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 6.3 ล้านโดส ซึ่งเป็นศูนย์เดียวของไทยและมีขนาดใหญ่มากที่สุดเมื่อเทียบกับศูนย์อื่น ๆ ทั่วโลก เพราะเขาไม่ได้เปิดต่อเนื่องเหมือนที่ศูนย์ฉีดบางซื่อ

อย่างไรก็ตาม ต้องใช้สถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ ถอดบทเรียนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พันธมิตรและเครือข่ายว่า หากมีภาวะฉุกเฉินเช่นนี้เกิดขึ้นอีก จะต้องดำเนินการอย่างไร ระดมคน ทรัพยากร เทคโนโลยีอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีการถอดบทเรียนและเตรียมรับมือในรูปแบบฉากทัศน์ (scenario setting) ฉะนั้น ในวันที่ 30 กันยายนนี้ จะปิดแน่หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้

“แต่ที่เราวางแผนรับมือไว้คือ ศูนย์ฉีดบางซื่อต้องมีความพร้อมและกลับมาเปิดให้บริการได้ภายใน 1 วัน ทั้งกรณีที่อาจเกิดการระบาดใหม่ หรือกรณีที่วัคซีนรุ่นใหม่เข้ามาแล้วจำเป็นต้องระดมฉีดจำนวนมาก ทั้งนี้ เรื่องสถานที่เราประสานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงคมนาคมว่า แม้จะปิดศูนย์ในวันที่ 30 กันยายนนี้ แต่ยังมีการเตรียมพร้อมเพื่อกลับมาเปิดใหม่ ดังนั้น ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ก็จะเก็บรักษาไว้ที่สถานีกลางบางซื่อในส่วนที่การรถไฟฯยังไม่ได้เปิดใช้งาน

สุดท้ายแล้ว การที่เราประกาศยุติให้บริการที่ศูนย์ฉีดบางซื่อ ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนไปรับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และที่สำคัญคือ การส่งสัญญาณเชิงบวก (positive signals) ว่าประเทศไทยได้ร่วมกันผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันแล้ว แต่เรายังต้องให้ความสำคัญกับวัคซีนอยู่ เพราะตัวเลขการติดเชื้อที่เห็นรายงานวันละ 1-2 พันราย เป็นการเข้าระบบ แต่คนที่ติดเชื้ออาการน้อยไม่ได้เข้าระบบก็มีอีกมาก อาจถึง 5-10 เท่า จากตัวเลขที่เราเห็น

ส่วนคนเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 30 ราย คนทั่วไปอาจมองว่าปกติ แต่หากเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก คนในครอบครัว นั่นคือ 1 ชีวิต ดังนั้น การฉีดวัคซีนยังมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุ” พญ.มิ่งขวัญกล่าว

อย่างไรก็ตาม พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์ฉีดบางซื่อ เปิดใน 2 วิธี ทั้งการจองล่วงหน้าผ่านเครือข่ายมือถือ และวอล์กอิน (Walk-in) แต่หากประชาชนที่ทราบวันเวลาที่ต้องการเข้ารับวัคซีน แนะนำให้ลงทะเบียนจองมาก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระการรับวอล์กอิน