
รู้จักร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำประเทศไทยชุ่มฉ่ำได้ตลอดทั้งปี
สภาพอากาศประเทศไทยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับฝนตกหนักที่บางครั้งกินเวลานานนับชั่วโมง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีสภาวะฝนตกหนัก ไม่ใช่เพียงแค่การเกิดขึ้นของพายุเท่านั้น แต่รวมไปถึง “ร่องมรสุม” ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ และเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- EV จีน ทุบราคาเลือดสาด ฉางอาน-กว่างโจวท้ารบ BYD เกทับลดอีกแสน
กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า ร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำ (Monsoon Trough) เป็นโซนหรือแนวแคบ ๆ ที่ลมเทรดหรือลมค้าในเขตร้อนของทั้ง 2 ซีกโลกมาบรรจบกัน คือลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือของซีกโลกเหนือกับลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ของซีกโลกใต้
ร่องความกดอากาศต่ำ หรือร่องมรสุม มีลักษณะลมเป็นแนวพาดขวางในทิศตะวันออก-ตะวันตก ในร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ มีกระแสอากาศไหลขึ้น-ลงสลับกัน ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมจะอยู่ในเขตร้อนใกล้ ๆ เส้นศูนย์สูตร และจะมีการเลื่อนขึ้น-ลงตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์ โดยจะล่าช้าประมาณ 1-2 เดือน
ความกว้างของร่องความกดอากาศต่ำ หรือร่องมรสุมประมาณ 6-8 องศาละติจูด เป็นบริเวณที่มีเมฆมากและฝนตกหนาแน่น เมื่อร่องนี้ประจำอยู่ที่ใดหรือผ่านที่ใด ก็จะทำให้ที่นั้นฝนตกหนาแน่นได้
ขณะที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สรุป การพาดผ่านของร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำในประเทศไทย โดยระบุว่า ในเดือนเมษายน ร่องมรสุมจะเริ่มพาดผ่านภาคใต้ จากนั้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ
ช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะเกิดช่วงฝนทิ้ง เนื่องจากร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน โดยจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หรือมีฝนน้อยนานนับเดือนได้ ก่อนที่ร่องมรสุมจะกลับลงมาพาดผ่านประเทศไทย จากภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ ตามลำดับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
