ทีมกรมศิลป์เผยสาเหตุ เจดีย์วัดศรีสุพรรณถล่ม – ตรวจสอบกรุแตก

เจดีย์วัดศรีสุพรรณถล่ม ในเมืองเชียงใหม่ เผยร้าวก่อนเจอฝนกระหน่ำ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเผยสาเหตุจากการก่อสร้างครอบเจดีย์เก่า ระบายความชื้นออกมาไม่ได้

วันที่ 30 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาล และคณะสงฆ์ ร่วมกันตรวจสอบซากเจดีย์และวัตถุมงคลในเจดีย์ วัดศรีสุพรรณ ถ ช่างหล่อ ต.หายยา อ เมืองเชียงใหม่ ซึ่งถล่มพังลงมาช่วงเย็นวันที่ 29 ก.ย.

คณะตรวจสอบนำยอดเจดีย์ภายในบรรจุพระธาตุ ลงมาได้สำเร็จ รวมถึงเก็บวัตถุมงคลต่าง ๆ ทั้งพระพุทธรูป อัญมณี โดยกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าบริเวณพื้นที่เจดีย์ที่ถล่ม

ภาพ ข่าวสด

พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ (สุพล สุทฺธสีโล) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าวว่า ทางวัดนิมนต์คณะสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ จำนวน 5 รูปเพื่อทำพิธีสูญถอน ก่อนที่จะให้เจ้าหน้าที่รื้อถอนซากเจดีย์ส่วนที่เหลือ

จากการตรวจสอบเบื้องต้น เจ้าหน้าที่กรมศิลป์พบวัตถุในซากเจดีย์  มีทั้งของเก่าและใหม่ เนื่องจากการสร้างเจดีย์ต่าง ๆ นั้น จะนำวัตถุมงคลอัญมณี ใส่ที่ฐานเจดีย์ ที่กลางเจดีย์ และที่ปลายเจดีย์ และเมื่อมีการมาสร้างครอบเจดีย์ ก็จะนำวัตถุ อัญมณี มาใส่เพิ่มอีก

พระพุทธรูปและวัตถุมงคลในเจดีย์ / ภาพ ข่าวสด
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและแยกประเภทโบราณวัตถุที่พบ / ภาพ ข่าวสด

พระครูพิทักษ์สุทธิคุณกล่าวว่า ก่อนที่จะพังลงมาทางวัดเห็นรอยร้าวก่อน 3 วันก่อนหน้าเกิดเหตุ จึงได้แจ้งกรมศิลป และทางคณะสงฆ์ก็เฝ้าดูตลอดเวลา และห้ามนักเรียนและคนทั่วไปเข้าไป  จึงไม่เกิดอันตรายกับนักเรียน และประชาชนที่มาในวัด

นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สาเหตุของการพังทลายก็มาจากการสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า ทำให้ความชื้นในเจดีย์องค์เก่าไม่สามารถระเหยออกมาได้ เพราะมีการทาสีทองทับเหมือนกับเป็นฟิล์มครอบความชื้นในเจดีย์ เมื่อน้ำฝนซึมเข้าบริเวณรอยร้าวของเจดีย์เข้าไปสะสม นานเข้าจึงเกิดวิบัติและถล่มลงมาดังกล่าว

เจดีย์มีรอยร้าวอยู่ก่อน

นายเทอดศักดิ์ให้ข้อมูลด้วยว่า โบราณสถานในเชียงใหม่ นิยมจะสร้างครอบของเก่า และไม่มีโครงสร้างในการยึดและรองรับน้ำหนักการระเหยความชื้น เนื่องจากคนโบราณ ไม่ต้องการจะทำให้กระทบกระเทือนของเก่าแก่จึงสร้างครอบ ทั้งนี้ ในเชียงใหม่ พบว่ามีการสร้างครอบโบราณสถานถึง 80% เลยทีเดียว

“อย่าลืมว่าปูนของเก่า กับปูนของใหม่ ส่วนผสมก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และยึดเกาะกัน สร้างครอบเท่ากับสร้างทำทำให้เจดีย์เก่าต้อวแบกรับน้ำหนักเพิ่มไปอีก”  ผอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถานกล่าวและว่า กรณีกำแพงเมืองประตูช้างเผือกที่พังถล่ม มีลักษณะเดียวกันกับเจดีย์ที่วัดศรีสุพรรณ คือสร้างครอบของเก่า

เจดีย์ถล่มลงมาหลังฝนตกหนัก / ภาพ ข่าวสด
พระสงฆ์ช่วยตรวจหาวัตถุโบราณในซากเจดีย์

สำหรับเจดีย์ของวัดศรีสุพรรณ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง ทรงองค์ระฆังกลม บนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย แปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานรองรับทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สามสิบหก

พระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้บูรณะมาหลายครั้งแล้ว มีอายุประมาณเท่ากับพระวิหาร หรือหลังจากนั้นไม่นาน เพราะในพุทธศาสนาทางล้านนานั้น นิยมสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้หลังพระวิหาร

ประวัติวัดศรีสุพรรณ

สำหรับ ประวัติวัดศรีสุพรรณ เว็บไซต์ วัดศรีสุพรรณ.com ให้ข้อมูลว่า ตั้งอยู่ในชุมชนวัดศรีสุพรรณ  ตำบลหายยา เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ติดกับประตูเชียงใหม่

เจดีย์ก่อนถล่ม ในวัดศรีสุพรรณ

วัดแห่งนี้สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯให้นำเอาพระเจ้าเจ็ดตื้อ หรือพระพุทธปาฏิหาริย์มาประดิษฐานปีพ.ศ. 2043 แล้วจัดสร้างพระวิหารบรมธาตุเจดีย์ และอุโบสถ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2052 ทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ แล้วนำพระเจ้าเจ็ดตื้อมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถดังกล่าวจวบถึงปัจจุบัน

ในอดีตชุมชนวัดศรีสุพรรณอยู่ในชุมชนกลุ่มศิลปกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน และการหล่อระฆัง หล่อพระพุทธรูป ถนนวัวลาย ถนนช่างหล่อ มีการพัฒนาการการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมเครื่องเงิน

ภายในวัดจึงมีอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก ที่ชาวชุมชนร่วมแรงร่วมใจสืบสานเครื่องเงินชุมชนวัวลาย ซึ่งเป็นชุมชนทำหัตถกรรมเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่

….