กทม. คุมเข้มรถควันดำ-โรงงาน-เผาการเกษตร ลดฝุ่น PM 2.5

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ เผยบูรณาการหลายหน่วยงาน แก้ไขปัญหา PM 2.5 เชิงรุก คุมรถควันดำ-โรงงาน-เผาชีวมวล

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2565 โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมประชุม

นายชัชชาติเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดย กทม.มีแผนการดำเนินการที่ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ขณะนี้ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม. ได้เสร็จเรียบร้อยและเปิดดำเนินการแล้ว ตั้งอยู่ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำในเบื้องต้น คือ การออกตรวจจุดที่มีปัญหาในการก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในที่ประชุมได้พูดคุยหารือและสรุปว่า เราอาจจะคิดว่า PM 2.5 เป็นเรื่องของรถที่ปล่อยควันดำอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะยังมีเรื่องของการเผาชีวมวล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรด้วย จริง ๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯด้วย เช่น การปลูกอ้อย พืชไร่ต่าง ๆ ที่มีการเผาชีวมวล อาจจะรวมถึงต่างประเทศอย่างประเทศกัมพูชา

ดังนั้น เรื่องที่จะดำเนินการ มี 3 ด้าน คือ 1.รถขนส่ง รถควันดำต่าง ๆ ที่มีปัญหา ได้ดำเนินการเชิงรุก และกำหนดแผนการตรวจทุกวันตลอดช่วง 2 เดือน โดยความร่วมมือทั้งกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจ โรงงาน และพยายามไปตรวจที่จุดกำเนิด เช่น แพลนต์ปูน ไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ กำหนดให้มีรายงานการตรวจทุกวัน และแจ้งผลว่า จำนวนที่ไม่ผ่านมีเท่าไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจอย่างต่อเนื่อง

2.โรงงานอุตสาหกรรม ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 6,000 โรงงาน โดยมีอยู่ 260 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงในการเกิด PM 2.5 และจะต้องเฝ้าระวังอย่างละเอียด โดยจะแบ่งแต่ละเขต และให้ ผอ.เขต รับทราบโรงงานที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ และเข้าร่วมตรวจกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสัปดาห์หน้าจะร่วมลงตรวจกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สุ่มตรวจในโรงงานเหล่านี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ

และ 3.การเผาชีวมวล ปีที่แล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเผาอยู่ 9 จุด และได้ลงไปคุยในเบื้องต้นแล้วว่าจะให้เกษตรกรมีแนวทางลดการเผาอย่างไร ซึ่งเกษตรบอกว่าทำได้ แต่อาจจะให้ทาง กทม.ช่วยเหลือ เช่น เรื่องน้ำมันในการเก็บตอซังข้าว หรืออาจจะต้องการเครื่องมือมัดฟาง เครื่องมือหรือน้ำยาในการย่อยสลาย เพื่อเปลี่ยนชีวมวลให้กลายเป็นปุ๋ยได้

ซึ่งพื้นที่ปลูกในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีเยอะ ปัญหาจะอยู่นอกพื้นที่ โดย กทม.จะมีการเฝ้าระวังและดูจุดความร้อนจากการเผาไหม้ต่าง ๆ (hotspot)  ถ้ามีปัญหาการเผาจะดำเนินการแจ้งกรมควบคุมมลพิษ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงหากมีการเผานอกประเทศ กรมควบคุมมลพิษจะเป็นหน่วยงานที่แจ้งองค์กรความร่วมมือของอาเซียน เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างต่างประเทศต่อไป

นายชัชชาติกล่าวอีกว่าว่า มีหลายหน่วยงานที่มีข้อเสนอมา โดยทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ จริง ๆ แล้ว รถอีกประเภทหนึ่งที่ปล่อยควันพิษได้ คือ รถบรรทุกที่แบกน้ำหนักเกิน ทำให้เวลาวิ่งต้องใช้พลังเยอะ แต่เวลาตรวจน้ำหนักอาจจะตรวจแบบรถเปล่า ไม่มีปัญหา แต่ไปวิ่งจริงแบกน้ำหนัก รถบรรทุกเกินพิกัดมาก (Overload) ทำให้เกิดโอกาสปล่อยมลพิษออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณากฎหมายว่าเราสามารถควบคุมเรื่องน้ำหนักบรรทุกเกินได้แค่ไหน หรือจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร

รวมถึงการดูจุดต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ แพลนต์ปูน ขสมก. เป็นต้น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.แล้ว โดยจะลงลึกในรายละเอียดในแง่ของการป้องกัน ซึ่งทุกอย่างได้ดำเนินการตามแผน และจะแจ้งให้ประชาชนทราบถึงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีระบบการพยากรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยให้กรมควบคุมมลพิษเป็นแม่งานหลัก ในการแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันสามารถแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้าได้ประมาณ 7 วัน แต่ความแม่นยำอาจจะใกล้เข้ามาถึง 3 วัน ว่าฝุ่นจะเป็นอย่างไร ทาง กทม.จะใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและนำมาสื่อสารให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมต่อไป

ในส่วนของโรงเรียน ได้มีมาตรการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จัดให้มีกิจกรรมธงคุณภาพอากาศโรงเรียนสังกัด กทม. โดยให้เด็กนักเรียนฝึกอ่านค่าคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งธงออกเป็น 5 สี ตามค่าฝุ่นละออง PM 2.5 (หน่วย มคก./ลบ.ม.) ที่เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ได้แก่ 1.สีฟ้า มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 0-25 ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งได้ปกติ 2.สีเขียว มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 26-37 ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ 3.สีเหลือง มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 38-50 ผู้ป่วยควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง

4.สีส้ม มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 51-90 ลดกิจกรรมกลางแจ้งสวมหน้ากากอนามัย และ 5.สีแดง มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ 91 ขึ้นไป ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งใช้อุปกรณ์ป้องกันและอยู่ในห้องที่ปลอดภัย โดยให้นักเรียนชักธงคุณภาพอากาศเป็นสัญลักษณ์เพื่อเตรียมตัวและป้องกันภัย ซึ่งทำให้เกิดความตระหนักรู้ขึ้น (Awareness) และกระจายไปยังชุมชนด้วย สำหรับมาตรการอื่น ๆ อาจจะพยายามลดการใช้รถยนต์ และให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น และอาจทำพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ

“เรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ เป็นเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง ซึ่งเรื่องทั้งหมดเราไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งผมได้ย้ำความจำเป็นว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ จะต้องมีการแจ้งผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องว่าทำอะไรบ้าง ต้องสร้างความมั่นใจขึ้นมา ไม่ใช่เขียนแผนไว้เพื่อให้มีแผนแต่ไม่ปฏิบัติ

ต้องมีแผนและต้องไปปฏิบัติจริง ๆ  มีศูนย์ข้อมูลกลาง ซึ่งมีการออกรายงานอย่างต่อเนื่อง มีการเตือน มีการเตรียมอย่างเป็นรูปธรรม และต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจน นี่คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ร่วมทั้งให้ประชาชนมีส่วนในการแจ้งเหตุในจุดต่าง ๆ เช่น รถปล่อยควันดำ การเผาชีวมวล โดยใช้ Traffy Fondue เป็นตัวหนึ่งในการช่วยรับแจ้งเหตุต้นตอของมลพิษด้วย” นายชัชชาติกล่าว