ครม.ปลดล็อกสุราพื้นบ้าน คราฟท์เบียร์ ไม่จำกัดกำลังการผลิต-ทุนจดทะเบียน

ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงผลิตสุราพื้นบ้าน-คราฟท์เบียร์ ยกเลิกทุนจดทะเบียน กำลังการผลิต ด้านวิษณุ ยัน ไม่ตัดหน้าพรรคก้าวไกล

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ…. ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงในกฎหมายลำดับรอง ที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการอนุญาตผลิตสุราทั้งหมด โดยจะยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560

และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตผลิตสุรา ฉบับใหม่ เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความเหมาะสม รวมถึงปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาต รวมถึงใบอนุญาตผลิตสุรา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดิมมีกฎหมายภาษีสรรพสามิตคุมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนที่เห็นว่ากฎหมายที่ประกาศใช่ในปัจจุบันมีความตึงเกินไป อยากให้มีการผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้น กฎหมายฉบับใหม่นี้สามารถทำให้หลายส่วนมีความสบายใจ ไม่ถึงขนาดสุดโต่งเกินไป และมีการดูแลสุขภาพของประชาชน ดูแลเรื่องอุบัติเหตุที่มาจากสุราได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในการผลิตสุรา จะต้องมีการบำบัดน้ำเสียต่างๆ

“ดังนั้น คงไม่เป็นการเฉพาะเอื้อนายทุนอย่างแน่นอน เพราะการปรับร่างกฎกระทรวงครั้งนี้ ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เกี่ยวข้องกับประชาชน ที่จะผลิตสุราได้ง่ายขึ้น แต่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเข้ามาพิจารณาด้วย” นายอนุชา กล่าว

ด้านนายนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิตในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขใบอนุญาตดังกล่าวนั้น เราแบ่งอนุญาตเป็น 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ และ ใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชุมชน ทั้งนี้ กรณีสุราแช่ เดิมคุณสมบัติในการผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือ มีกำลังผลิต 1 แสน – 1 ล้านลิตร ต่อปี ซึ่งจะมีการยกเลิกทั้งหมด

หมายความว่า เบียร์โรงเล็กไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ ในขณะเดียวกัน ในตัวสินค้า หรือ เครื่องมือการผลิต จะต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“จะเป็นการปลดล็อกกรณีที่เป็นการค้า และโรงใหญ่ก็จะได้รับสิทธิเช่นกันคือ ปลดล็อกเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิต” นายณัฐกร กล่าว

นายณัฐกร กล่าวว่า ส่วนในกรณีที่ไม่ใช่การค้า ทำเอง บริโภคเอง สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ 1.ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตร 2.กำลังการผลิตต้องไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี 3.ต้องเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะ ไม่น้อยกว่า 20 ปี บริบูรณ์ 4.เบียร์ สุราแช่อื่นๆ เวลาผลิตแล้วต้องนำให้กรมสรรพสามิตรตรวจสอบคุณภาพ เพื่อไม่ให้มีเรื่องสารปนเปื้อนที่เป็นสารต้องห้ามตามหลักสากล

ส่วนสุรากลั่นชุมชน ที่กำหนดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า และกำลังคน 7 คน วันนี้เราจะขยายให้สำหรับโรงขนาดกลาง มีกำลังการผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 50 คน จะเป็นตัวช่วยให้สุรากลั่นชุมชนขยายตัวได้ เนื่องจาก เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง จะส่งผลให้คุณภาพของสุราดีขึ้น ต่อไปจะเปิดให้มีสุรากลั่นชุมชน S M L ได้อย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ทำบริโภคภายในบ้านได้ แต่ไม่สามารถนำไปขาย หรือไปแจกเพื่อนบ้านได้ เพราะถ้านำไปแลกเปลี่ยนก็ถือว่าเป็นการค้าประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ ขั้นตอนการขออนุญาต สามารถไปขอที่สรรพสามิตรพื้นที่ และนำใบอนุญาตมากรอกว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพิจารณาเกี่ยวกับสุราในที่ประชุม ครม. ว่า มี โดย ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 2 เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต ที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ากฎหมายนี้ตึงเกินไป ทำอะไรก็ไม่ได้

จึงคิดกันว่าจะทำให้หย่อนลง คือการออกกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีพรรคก้าวไกล เสนอเข้าสภา โดยรัฐบาลรับมาพิจารณา และสภารับหลักการไป แต่เมื่อมาดูพบว่ากฎหมายของปี พ.ศ. 2560 ตึง แต่กฎหมายของฝ่ายค้านหย่อน การหย่อนในที่นี้คือจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และกระทบกับภาษีรายได้ของประเทศ จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะพบกันครึ่งทาง

ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีข้อแนะนำว่า ไม่ต้องเดือดร้อนออกเป็นพ.ร.บ. แต่ออกเป็นกฎกระทรวงได้ โดยกฎกระทรวงนี้ จะหย่อนลง อะไรที่เคยบังคับก็หย่อน เกือบจะเท่ากับพรรคก้าวไกล

นายวิษณุ กล่าวว่า ทางกรมสรรพสามิตจึงยกร่างเสนอเข้ามา ซึ่งครม. พิจารณาแล้วให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูต่อ โดยทางคณะกรรมการกฤษฎีกาดูแล้วยังเห็นว่าไม่รัดกุม จึงปรับใหม่เป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 2 โดยทิ้งฉบับที่ 1 และวันนี้ทางครม. จึงอนุมัติ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2

“เรื่องนี้ไม่ใช่การชิงไหวชิงพริบ ตัดหน้าอะไรสภา แต่ต้องการให้มีกฎเกณฑ์ เพื่อผ่อนปรนให้สามารถผลิตสุรา โดยเฉพาะสุราที่ไม่ได้มีเพื่อการค้า ให้สามารถทำได้ โดยเฉพาะสุราพื้นบ้าน เพราะทาง ครม. เห็นว่าเป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 2 นี้ ไม่ได้ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง และทำให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุรา สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตให้วุ่นวายและเป็นภาระแก่ประชาชน โดยร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 2 จะมีผลบังคับใช้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อถามว่า เมื่อมีกฎกระทรวงฉบับนี้แล้ว ถ้าร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านสภาก็ไม่เป็นไรใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่จำเป็น เพราะในกฎกระทรวงมีสิ่งที่ดีเกือบเท่าเทียมกัน แต่รายละเอียดจะหย่อนลงจาก กฎหมายปีพ.ศ. 2560 เยอะมากกว่าครึ่ง” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นการแก้เกมกันหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้แก้เกม เพราะร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 2 นี้ทำมา 6 เดือนแล้ว ก่อนที่พรรคก้าวไกล จะเสนอกฎหมาย เพียงแต่กฎกระทรวงที่กรมสรรพสามิตเสนอ คณะกรรมการกฤษฎีกาดูแล้วเห็นว่า ในเมื่อแก้แล้วยังไม่ดีก็จะแก้ใหม่ เมื่อถามถึงการออกกฎกระทรวงในช่วงที่สภากำลังพิจารณา พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ามองอะไรเป็นการเมือง ก็ชิงไหวชิงพริบได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่ามีความจำเป็น ก็ต้องปล่อยไป

คลังปลดล็อกเอสเอ็มอีผลิตสุรา ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพิจารณาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ประชาชน สังคม และภาครัฐ

สำหรับร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราพ.ศ. 2560 พร้อมเปิดโอกาสให้การผลิตสุราสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ปลดล็อกทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ สามารถยกระดับสุราชุมชนจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดกลาง

“จะเป็นการช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เปิดโอกาสธุรกิจให้เติบโตสามารถขยายกิจการได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตยังคงให้ความสำคัญและคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย สาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีกรอบการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมา”

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1.เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้ ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

2.ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมนั้น ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และกรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

3.เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี อย่างไรก็ดี สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้น เป็นการเปิดโอกาสให้รายเล็กสามารถเติบโตได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและกำลังการผลิต แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินค้า ความปลอดภัย กระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“การเสนอร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ ดังกล่าวมีการปรับลดข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กให้สามารถขยายกำลังการผลิตส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้สามารถนำมาแปรรูปได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบไป”

อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตยังคงเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการการควบคุมด้านคุณภาพ ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมและมีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกมาสู่ผู้บริโภค อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคได้

นอกจากนี้ การผลิตสุราก่อให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิต อาทิ การกำจัดกากขยะและน้ำเสีย ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การให้ความสำคัญในเรื่องของสถานที่ตั้งและการควบคุมกระบวนการผลิต ความสะอาด และสุขอนามัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เป็นไปตามกฎระเบียบตามที่กำหนด เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรักษามาตรฐานความปลอดภัยที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดขึ้นมานั้น เป็นไปตามที่ถือปฏิบัติเป็นสากล และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเวลานี้