เปิดประเทศ หนุนเก็บภาษีเบียร์ สรรพสามิตเดินหน้าระบบตรวจสอบใหม่

ขวด เบียร์
ภาพ : PIXABAY

เปิดประเทศหนุน “สรรพสามิต” เก็บภาษี “เบียร์-สุรา” กระเตื้อง เผยครึ่งปีงบประมาณโกยรายได้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเป้า เดินหน้าปรับระบบ “แสตมป์” เพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษีเบียร์ จ้าง “สามารถ คอร์ปอเรชั่น” ดูแลระบบพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ หนุนเก็บรายได้เพิ่มหลักพันล้านบาท พร้อมเล็งนำระบบ e-Stamp ใช้กับสินค้า “บุหรี่-สุรา” ป้องกันของเถื่อน

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัญญาณการเก็บรายได้จากภาษีเบียร์เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างน้อย 2-3%

หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้ร้านอาหารที่จำหน่ายเหล้าเบียร์กลับมาเปิดได้ถึงเที่ยงคืน จากช่วงล็อกดาวน์ที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้สินค้าประเภทสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตในประเทศไทย

โดยให้บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ ที่เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้ระบบมิเตอร์วัดการผลิต มาเป็นระบบพิมพ์ลงแสตมป์ที่ขวดบรรจุภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการที่ได้ติดตั้ง ณ โรงงานอุตสาหกรรม

Advertisment

“การใช้ระบบใหม่จะช่วยแก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี และคาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ภาษีเบียร์เป็นหลักพันล้านบาท เพราะจะมีความแม่นยำในการจัดเก็บภาษีมากกว่าเดิม” นายณัฐกรกล่าว

ทั้งนี้ กรมยังมีแนวทางนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าอื่น ๆ ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาระบบแสตมป์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp) ที่จะใช้กับสินค้าบุหรี่

โดยจะมีการติดคิวอาร์โค้ดเข้าไปในแสตมป์บุหรี่ เพื่อให้ประชาชนสามารถสแกนตรวจสอบได้ว่าบุหรี่ดังกล่าวมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการแจ้งเบาะแส

รวมทั้งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการคิดภาษีบุหรี่ด้วย โดยจะมีการกำหนดให้ติดตั้งระบบดังกล่าวทั้งบุหรี่ในประเทศ และบุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย คาดว่าจะเริ่มเห็นการนำมาใช้ได้อีก 3-4 เดือนข้างหน้า

Advertisment

นอกจากนี้ก็มีการศึกษาใช้ระบบกึ่ง e-Stamp เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสุรา รวมถึงจะพยายามนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตทั้งหมด รวมถึงการเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในระยะข้างหน้า

โฆษกกรมสรรพสามิตกล่าวด้วยว่า กรมสรรพสามิตยังมีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต เพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต

และเพื่อเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (1 ต.ค. 2564-28 เม.ย. 2565)

พบว่ามีการกระทำผิด จำนวน 15,893 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 286.22 ล้านบาท แยกเป็น สุรา จำนวน 8,566 คดี ค่าปรับ 75.79 ล้านบาท ยาสูบ จำนวน 5,457 คดี ค่าปรับ 142.43 ล้านบาท ไพ่จำนวน 263 คดี ค่าปรับ 2.71 ล้านบาท

น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 450 คดี ค่าปรับ 19.68 ล้านบาท น้ำหอมจำนวน 78 คดี ค่าปรับ 4.05 ล้านบาท รถจักรยานยนต์ จำนวน 723 คดี ค่าปรับ จำนวน 16.71 ล้านบาท และสินค้าอื่น ๆ จำนวน 356 คดี ค่าปรับ 24.85 ล้านบาท

“มีของกลางแยกเป็นน้ำสุรา จำนวน 130,455.320 ลิตร ยาสูบ จำนวน 2,981,073 ซอง ไพ่ จำนวน 17,389 สำรับ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 601,660.000 ลิตร น้ำหอม จำนวน 88,247 ขวด รถจักรยานยนต์ จำนวน 881 คัน” นายณัฐกรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตรายงานว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564-มี.ค. 2565) กรมสรรพสามิตสามารถเก็บภาษีเบียร์ได้ 43,500 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 1,400 ล้านบาท

หรือ 3.34% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2,800 ล้านบาท หรือ 7.09% โดยล่าสุดในเดือน มี.ค. เก็บภาษีเบียร์ได้ 7,800 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 1,800 ล้านบาท หรือ 31.33% และสูงกว่าเอกสารงบประมาณ 1,250 ล้านบาท หรือ 18.99%

ขณะที่ภาษีสุราจัดเก็บได้ 31,700 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 140 ล้านบาท หรือ 0.45% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,300 ล้านบาท หรือ 4.41% ล่าสุดในเดือน มี.ค. จัดเก็บได้ 5,790 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 90 ล้านบาท หรือ 1.59% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 580 ล้านบาท หรือ 11.13%

ทั้งนี้ ภาษีสินค้าทั้ง 2 ประเภท เก็บได้ค่อนข้างต่ำในเดือน ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น