กรมอุตุฯเตือน 9-14 พ.ค. “พายุฤดูร้อน-พายุหมุนเขตร้อน” พัดถล่มหลายจว.

ภาพถ่ายดาวเทียม เตือนเกิดพายุฤดูร้อน-พายุหมุนเขตร้อน

กรมอุตุฯ ออกประกาศ ฉบับที่ 7 เตือน “พายุฤดูร้อน” พัดถล่ม 40 จังหวัด ช่วง 9-10 พ.ค.นี้  ขณะที่ช่วง 9-15 พ.ค.หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็น “พายุหมุนเขตร้อน” ส่งผลให้มีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่งช่วง 11-14 พ.ค. หวั่นเป็นอุปสรรควันเลือกตั้ง

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เมื่อเวลา 17.00 น. นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยลักษณะอากาศ เรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 7(136/2566) มีผลกระทบถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2566

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 2566 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด

เตือนฉบับที่ 7 พายุฤดูร้อน

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 9-15 พ.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็น “พายุหมุนเขตร้อน” และคาดว่าจะเคลื่อนเข้าอ่าวเบงกอลตอนบน หลังจากนั้นจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเมียนมา ส่งผลให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 66 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าว

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แผนที่อากาศผิวพื้น 9 พฤษภาคม 2566 13.00

เตือนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ฝนตก 40-60% หลายจังหวัด

ทางด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลง ณ ศูนย์ปฏิบัติการพยากรณ์อากาศชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา โดยระบุว่า สภาพอากาศในช่วง 9-15 พ.ค. 66 ไม่มีพายุ 2 ลูกเคลื่อนเข้าไทยขนาบซ้ายขวาตามข่าวลือในสื่อสังคมออนไลน์แน่นอน

อย่างไรก็ตามผลกระทบจากอิทธิพลของพายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) ที่แม้ไม่เคลื่อนเข้าไทย แต่ส่งผลกระทบทางอ้อมให้มีฝนตกต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะวันที่ 11-14 พ.ค. 66 ทำให้วันเลือกตั้ง (14 พ.ค. 66) จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องอยู่ในหลายพื้นที่

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือมีโอกาสเกิดฝนประมาณร้อยละ 60 ส่วนภาคอื่น ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีโอกาสเกิดฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้งได้

ขณะเดียวกันภาคใต้คลื่นลมในทะเลอันดามันจะแรงขึ้น โดยเฉพาะทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วง 9-14 พ.ค. 66 ไว้ด้วย


พื้นที่เตือนภัยฝนตกหนักถึงวันที่ 10 พ.ค.