“ชุมชนสวัสดิการ” ทางออกของสังคมสูงวัยในระบบทุนนิยมไทย

คนสูงวัยในไทยจะอยู่อย่างไรในระบบทุนนิยม ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในเวทีเสวนา “สังคมสูงวัย ประชาสังคมไทย (CSO) ต้องช่วยกัน” เวทีนี้เปิดเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีประโยชน์ ต้อนรับสังคมผู้สูงวัยในยุคประเทศไทย 4.0 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายหน่วยงาน เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของสังคมผู้สูงวัย การเตรียมพร้อมและชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนานโยบายและแผนงานที่ควรจะตอบโจทย์และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

สุวิมล มีแสง หัวหน้างานพัฒนาองค์ความรู้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวถึงข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดและการตายของคนไทยเกือบเท่ากัน คนมีบุตรน้อยลง ขณะที่เทคโนโลยีก็ช่วยให้มีอายุที่ยาวนานขึ้น ภายในปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวคิดเป็นอัตรา 20% จากประชากรทั้งหมด จึงมีคำถามว่าวันนี้เรามีความพร้อมกันแค่ไหน เตรียมออกแบบชีวิตอย่างไร

สุวิมล มีแสง

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เสนอมุมมองเรื่องความสุขของผู้สูงวัยที่จะพึงพอใจกับอนาคตของตน ด้วยบริบทต่าง ๆ ดังนี้ 1.การมีสุขภาพที่ดี 2.การมีรายได้ที่เพียงพอ 3.การมีเงินออม 4.การสามารถอยู่ร่วมและดำเนินกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ดังนั้นการได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สอดคล้องไปกับสังคมที่เปลี่ยนไปหากทำได้เชื่อว่าคนสูงวัยจะมีความสุขไปตามการก้าวทันของกาลเวลา

ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา

อีกท่านที่มาแบ่งปันข้อมูลคือนักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย ชี้ว่า การแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยสิ่งสำคัญต้องมาจากชุมชนร่วมกันสร้างความอบอุ่น มั่นคง เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันกันอันยั่งยืนให้กับผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้จะมั่นคงกว่าการพึ่งเพียงเบี้ยยังชีพหรือระบบประกันสังคมจากภาครัฐ

“ในความจริงเรามีเครื่องมือชิ้นนี้อยู่แล้วคือองค์กรสวัสดิการชุมชน ที่เป็นการรวมกันของชุมชนทั้งในเชิงพื้นที่ และในเชิงประเด็นหน้าที่ของรัฐ จึงควรจะสื่อสารให้ชุมชนได้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้อย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้ชุมชนรวมตัวกันแก้ปัญหาของตนเองให้มาก โดยเริ่มจากการวางวิสัยทัศน์ที่ต้องมุ่งไปเป็นชุมชนสวัสดิการ เพื่อให้ทุกแผนงานและกิจกรรมสอดรับกัน”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาผู้สูงวัย ผศ.ดร.วีรณัฐ เสนอทางออกว่า จุดแรกต้องเริ่มตั้งแต่การปรับวิธีคิด เพราะหากเราเริ่มต้นด้วยวิธีคิดไม่ถูกก็จะแก้ปัญหาได้ไม่ได้ อย่างเรื่องจำนวนเงินออมที่ต้องมีเมื่ออายุ 60 นั้น หากคิดแบบทุนนิยม แม้มี 4 ล้าน 6 ล้านจริงตามโปรแกรมที่คำนวณ แต่สุดท้ายใจมันก็จะยังวิตก ยังไม่รู้สึกปลอดภัย ยังกลัวอยู่ วิธีวางแผนเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงการออมเงิน แต่ต้องเป็นการสร้างความมั่นคงทางปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ


“นอกจากนี้ยังต้องมาดูบริบทที่ผู้สูงอายุยุคนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ นั่นคือเป็นบริบทของประเทศไทย 4.0 ที่เรื่องเทคโนโลยีมีบทบาทมาก ผู้สูงอายุจำเป็นต้องเรียนรู้และยอมรับ เพราะยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการผลักให้ผู้สูงวัยหลุดไปจากสังคมไกลเท่านั้น ชุมชนจึงควรสร้างพื้นที่ของการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ แก่ผู้สูงวัย จัดให้มี Informal Education หรือเรียกว่าการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้และให้ความรู้ตามความสนใจ ตามความถนัด ตามความฝัน ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่ทำให้เราได้มีผู้สูงวัยที่เปี่ยมสุขและมีคุณภาพ” ผศ.ดร.วีรณัฐ นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย