ปักหมุด 5 ย่านสตรีตฟู้ด-เมืองเก่า เกาะรัตนโกสินทร์ เยาวราช พาหุรัด รับโลกการค้ายุคใหม่

 

กทม. ผนึก บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด-บ.กรุงเทพพัฒนาเมือง ลุยปรับปรุงฟื้นฟู 5 ย่านเศรษฐกิจในกทม. เกาะรัตนโกสินทร์, อโศก-พระรามเก้า, เตาปูน-บางโพ, บางหว้า และบางขุนเทียน  หลังย่านการค้าเก่าแก่ซบเซาจากโลกการค้ายุคใหม่ เริ่มนำร่องยกเครื่องใหญ่ “ย่านเยาวราช-พาหุรัด” ออกแบบปรับปรุงถนนทางเดิน เพิ่มศักยภาพสตรีตฟู้ด พร้อมอัดอีเวนต์กระตุ้นทั่วทั้งเกาะรัตนโกสินทร์ในปี 2563 ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณคนใช้บริการเพิ่มสองเท่า สร้างเศรษฐกิจชุมชนพันล้านบาทต่อปี

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่เพื่อการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมหรือ SG-ABC 2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางโครงการได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท กรุงเทพพัฒนาเมือง จำกัด

ในการกำหนดยุทธศาสตร์และจัดทำแผนเร่งด่วนในการปรับปรุงฟื้นฟูกรุงเทพมหานคร ใน 5 ย่าน ได้แก่  เกาะรัตนโกสินทร์, อโศก-พระรามเก้า, เตาปูน-บางโพ, บางหว้า และบางขุนเทียน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการพัฒนา และยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนบริเวณดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มซบเซาลงจากโลกค้ายุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป

โดยการทำงานจะมีการตั้งคณะกรรมการกฎบัตรทั้ง 5 ย่านขึ้นมา โดยมีทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเข้ามาช่วยกันระดมข้อคิดเห็น โดยกำหนดให้ทุกกฎบัตรต้องคัดสรรโครงการเร่งด่วนที่มีศักยภาพในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ มีสมรรถนะในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเมืองได้อย่างรวดเร็ว และสามารถดำเนินการได้ทันทีขึ้นมาดำเนินการ

ทั้งนี้ กฎบัตรรัตนโกสินทร์ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมเขตเมืองเก่ารัตนโกสินทร์ทั้งหมด และเชื่อมต่อถึงเขตการค้าดั้งเดิมย่านเยาวราชและพาหุรัด ได้คัดสรรโครงการเร่งด่วนจำนวนสองโครงการ ประกอบด้วย โครงการ Bangkok International Digital Art and Design 2020 ที่จะจัดเป็นกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วทั้งเกาะรัตนโกสินทร์ในปี 2563 ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และโครงการปรับปรุงฟื้นฟูสตรีตฟู้ดและถนนแห่งการเดินเยาวราช ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบ

ด้านนางสาวศิฬินภา ศิริสานต์ นักวิจัยประจำกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า พื้นที่ออกแบบของย่านเยาวราชนั้นมีขนาด 11.5 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าว มีร้านอาหารเครื่องดื่ม 286 แห่ง ร้านค้าส่งค้าปลีก 739 แห่ง โรงแรมและโฮสเทล 26 แห่ง สำนักงาน 173 แห่ง โรงพยาบาลและคลีนิค 10 แห่ง สถานศึกษา 1 แห่ง สถาบันศาสนา 12 แห่ง สถานที่ราชการ 4 แห่ง อาคารทิ้งร้าง 80 แห่ง และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 1 แห่ง จากการสอบถามผู้ค้าในย่านพบว่า จำนวนผู้เข้าบริการร้านอาหารและกิจการพาณิชย์ลดลงกว่าเดิมมาก พื้นที่มีปัญหาการจราจรอย่างมาก และที่มองเห็นได้ชัดคือ ปริมาณของการปิดตัวของกิจการมีเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการปล่อยอาคารทิ้งร้างที่เริ่มหนาตาขึ้น

เฉพาะถนนเยาวราชจากการสำรวจมีร้านค้าจำนวน 219 ร้าน แบ่งเป็นร้านอาหาร 173 ร้าน และร้านค้าอื่นๆ 46 ร้าน สำหรับร้านค้าริมทางหรือสตรีตฟู้ดที่เปิดช่วงกลางคืนแบ่งออกเป็น ร้านอาหารในตึก 42 ร้าน ร้านค้าในตึกผสมรถเข็น 4 ร้าน รถเข็นอาหารประเภทมีที่นั่ง 43 ร้าน ไม่มีที่นั่ง 67 ร้าน แผงลอยประเภทมีที่นั่ง 6 แผง ไม่มีที่นั่ง 11 แผง และแผงลอยที่ได้ขายอาหาร 27 แผง จากการสำรวจค่าเฉลี่ยรายได้ต่อร้านค้าประมาณ 5,500 บาทต่อวัน

จากผลการสำรวจ  นายฐาปนา บุณยประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสองข้างทางถนนเยาวราชที่เป็นที่โซนขายอาหารเข้มข้นได้รับการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพ ด้วยการขยายทางเท้าจาก 1.8 เมตรทั้งสองข้างทางเป็น 3 เมตร จะทำให้พื้นที่ร้านค้าริมทางสามารถขยายที่นั่งได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันจะสามารถออกแบบกันพื้นที่ทางเดินได้ฝั่งละไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร ปัจจุบันถนนเยาวราชมีเขตทางกว้างประมาณ 5 ช่องจราจร หลังจากที่รถไฟฟ้าใต้ดินเปิดให้บริการแล้ว ความจำเป็นในการสัญจรด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลจะลดลง ดังนั้น จะสามารถลดช่องจราจรจาก 5 ช่องลงเหลือ 3 ช่องจราจร โดยปริมาณคนเดินจะเพิ่มขึ้นสามเท่าจากการสัญจรเข้าพื้นที่ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินในขณะที่ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลจะลดลงเท่าตัว ซึ่งปริมาณคนเดินที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ร้านค้าจะสามารถเพิ่มยอดขายโดยเฉลี่ยที่ 7,500 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวที่พันล้านบาทต่อปี

ผลของการออกแบบปรับปรุงที่จัดวางอาหาร สุขาภิบาลริมทาง การปรับปรุงสภาพด้านหน้าอาคาร (Front Facade) ขนาดและผิวทางเท้า ต้นไม้ใหญ่ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และเฟอร์นิเจอร์ถนน จะทำให้เยาวราชเป็นย่านแห่งการเดินและย่านสตรีตฟู้ดที่สมบูรณ์

นอกจากนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการกฎบัตรรัตนโกสินทร์อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงาน เรื่องแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกับหน่วยบริการสำคัญของเยาวราชและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อกำหนดแนวทางลดการใช้พลังงานในพื้นที่เยาวราช เน้นที่ภาคการขนส่งและการเดินทาง ซึ่งน่าจะดำเนินการได้พร้อมกันกับการฟื้นฟูทางเท้าและสภาพแวดล้อมถนนเยาวราช ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเป็นแม่งาน