รื้อใหญ่โครงสร้างข้าราชการ ปรับระบบเงินเดือน-ดึงดูดคนพันธุ์ใหม่

ก.พ.ยกเครื่องระบบราชการไทย 1.33 ล้านคนรับมือโลกเปลี่ยน ตั้งโจทย์ใหญ่ “เพิ่มประสิทธิภาพ-ลดงบรายจ่าย” พลิกโฉมกระบวนการสรรหา-รูปแบบจ้างงาน ผลตอบแทนแก้ปม “คนรุ่นใหม่” เมินอาชีพข้าราชการ ชูตั้ง HR LAB ประเดิมจับมือ ก.พ.ร.-สภาพัฒน์-คลัง นำร่องโครงการ “ต้นแบบ” ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานชง ครม.เคาะเกณฑ์ขยายอายุเกษียณราชการต้นปี”63

รื้อโครงสร้างรับโลกเปลี่ยน

หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.กำลังเตรียมปรับโครงสร้างของข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีทั้งหมด 1.33 ล้านคน โดยเฉพาะในส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงราว 3.9 แสนคน เพราะการทำงานของข้าราชการถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ดังนั้นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น สำนักงาน ก.พ.จึงตั้งโจทย์ศึกษาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.) จำนวนข้าราชการ และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญได้มีการทำงานเต็มประสิทธิภาพคุ้มค่าหรือไม่ และปัญหาเร่งด่วนที่แท้จริงคืออะไร ระหว่างปริมาณหรือคุณภาพ

2.) เป้าหมายการลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลของภาครัฐให้ไม่เกิน 30% งบประมาณรายจ่าย จากปัจจุบันอยู่ที่ 37% ของงบประมาณรายจ่าย โดยใช้คนทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจากการประเมินต้นทุนของข้าราชการตั้งแต่เข้าทำงานวันแรกจนถึงวันที่เสียชีวิต จะอยู่ที่ราว 28 ล้านบาท/คน

แก้โจทย์ดึงคนรุ่นใหม่

และประเด็นที่ 3) จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้าทำงานข้าราชการมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไม่สนใจเข้ามาทำงานราชการ เนื่องจากระบบราชการไทยมีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบมีเงื่อนไข ขณะที่การทำงานของคนรุ่นใหม่ชอบอิสระ และให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพคน, คุณภาพงาน และคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นความท้าทายของระบบราชการไทย และเป็นโจทย์ที่ ก.พ.จะกำหนดออกมาเป็นแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนต่อไป

“คีย์เวิร์ดสำคัญคือ ปริมาณ และคุณภาพของคน ที่ไม่สอดรับกัน ดังนั้น เราจึงต้องทำให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่า ปัญหาของระบบราชการไทยคืออะไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก เปรียบเทียบปัญหา คือ ช้าง และทุกวันนี้ช้างก็ยังยืนอยู่ในห้อง และเราเองก็อุ้มช้างออกนอกห้องไม่ได้ ดังนั้นหากไม่ทำในวันนี้ ระบบราชการจะเป็นแบบนี้ตลอด ก.พ.ในฐานะฝ่าย HR ของรัฐบาล จึงต้องหาวิธีทำให้ขนาดกำลังคน ต้นทุน และประสิทธิภาพของคน อยู่ในระดับที่เหมาะสมไปพร้อม ๆ กับการตอบโจทย์ที่ว่าจะสร้างเสริมนโยบายรัฐเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 และทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีรู้สึกดีต่อระบบราชการไทยอีกครั้ง”

นอกจากนี้ ก.พ.ยังมีความกังวลในประเด็นจำนวนผู้เกษียณอายุราชการ และการรับข้าราชการใหม่ “ไม่สมดุล” อีกทั้งสัดส่วนการลาออกก็เพิ่มขึ้น ซึ่งอายุเฉลี่ยของคนในระบบราชการอยู่ที่ 40-45 ปี หมายความว่าในทุก ๆ 15 ปี จะมีข้าราชการจำนวนมากต้องเกษียณอายุ แต่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพข้าราชการเหมือนในอดีต เพราะต้องการงานที่เป็นอิสระ งานที่สร้างแรงบันดาลใจ ขณะที่ผลตอบแทนหรือเงินเดือนไม่ใช่ประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากนัก ฉะนั้น อนาคตของตลาดงานจะถูกแทนที่ด้วยรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” มากขึ้น ที่สำคัญ คนรุ่นใหม่ต้องการเห็นความสำเร็จเร็ว ขณะที่ระบบราชการไทย ยังใช้วิธีการ “ไต่เต้า” ซึ่งใช้เวลาการทำงานนานกว่าจะเติบโตในอาชีพข้าราชการ หรือบางทีอาจต้องใช้เวลาถึง 30 ปี ตรงนี้จึงไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

เพิ่มวิธีสรรหา-ขรก.ทดลองงาน

หม่อมหลวงพัชรภากรกล่าวว่า จากสมมติฐานข้างต้น ทำให้ต้องกำหนดกรอบการปรับโครงสร้างดังนี้ คือ 1) ออกแบบประเภทข้าราชการ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และระบบราชการสัญญาจ้างแบบ contract base ในส่วนที่เป็นงานประจำ โดยไม่ต้องทำงานตลอดชีวิตอายุราชการ ขณะเดียวกัน ข้าราชการก็จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถทำงานได้หลากหลายตามภารกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ 2) เพิ่มช่องทางการเข้าสู่ระบบข้าราชการ ยกตัวอย่างในบางประเภทงาน นอกจากจะต้องสอบวัดความรู้ขั้นพื้นฐาน คือ การสอบภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. และจะต้องเพิ่มการสอบ “เฉพาะด้าน” ด้วย เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมกับงาน

เนื่องจากปัจจุบันการสอบบรรจุข้าราชการจะใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน ไม่ว่าจะสอบเข้ามาทำงานประเภทใดก็ตาม ทั้งยังมองว่าการสรรหาข้าราชการเข้ามาทำงานควรใช้รูปแบบของการ “ทดลองงาน” เข้ามาปรับใช้ด้วย หากทำงานไม่ได้ในตำแหน่งแรกที่บรรจุ สามารถเปลี่ยนงานได้ เพื่อให้สอดคล้องกับทักษะคนที่ทำงาน

ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลาออกโดยไม่จำเป็น ซึ่งก็เป็นลักษณะนำวิธีการทำงานของภาคเอกชนมาปรับใช้ และ 3) การปรับอัตราโครงสร้างค่าตอบแทนให้เหมาะสมตามประเภทงานและตามเนื้องาน รวมถึงในส่วนของผลตอบแทนของข้าราชการประจำ กับข้าราชการที่มีสัญญาจ้างแบบ 5-10 ปี ซึ่งมีเนื้องานที่ต่างกัน ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนก็จะต้องแตกต่างกันด้วย

“ตอนนี้ ก.พ.อยู่ระหว่างการดีไซน์โครงสร้างข้าราชการใหม่ เพื่อให้มองสเต็ปต่อไป คือ การสรรหาคน เมื่อเราแบ่งประเภทของภาระงานชัดเจนแล้ว ก็ต้องดีไซน์ช่องทางการสรรหาให้มีมากกว่า 1 ประตู และอาจจะต้องมีประตูที่มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำสงครามแย่งชิงคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานในระบบราชการอีกด้วย” เลขาธิการ ก.พ.กล่าวและว่า

นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ ก.พ.ว่า ปัจจุบันการสรรหาข้าราชการไทยมีไม่กี่ช่องทาง และไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงาน แม้ ก.พ.จะพยายามเปิดประตูต่าง ๆ มากขึ้นในการรับสมัครข้าราชการรุ่นใหม่ แต่ตราบใดที่โครงสร้างระบบราชการไม่ปรับเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ก็ยังไม่เข้ามาทำงานเป็นข้าราชการอยู่ดี โดยปีหน้าจะเริ่มดำเนินการตามผลการศึกษา ซึ่งคาดว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 ปี จึงจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างชัดเจน

นำร่องปั้น HR LAB ประเทศ

หม่อมหลวงพัชรภากรกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ก.พ.ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักงาน ก.พ. เป็น “ต้นแบบ” การหาคนเข้ามารับราชการ พร้อมจัดตั้งให้เป็น “HR LAB” หรือห้องปฎิบัติงาน เพื่อรื้อการบริหารระบบราชการงานบุคคลของประเทศ เพื่อสร้างเครื่องมือใหม่เข้ามาปรับใช้ โดยในโครงการนำร่องนี้ สำนักงาน ก.พ.ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รวมถึงสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน เพื่อมาช่วยกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (collaboration) ในการออกแบบวิธีการสรรหาข้าราชการ เพราะเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องนำไปใช้เทียบเคียงเพื่อนำเกณฑ์การสรรหาคนทำงานไปใช้กับหน่วยงานของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างข้าราชการมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือแต่ละกระทรวงมีกฎหมาย เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ภายใต้กำกับ จึงทำให้การปฏิรูประบบราชการค่อนข้าง “ยาก” ฉะนั้้น หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องมากำหนดโจทย์ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา พร้อมนำไปคิดต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต

ชง ครม.ขยายอายุเกษียณ


เลขาธิการสำนักงาน ก.พ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขยายอายุเกษียณราชการนั้น ก.พ.อยู่ระหว่างดำเนินการ เบื้องต้นแยกเป็น 2 ส่วน คือ การต่ออายุให้กับผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุ 60 ปี ทั้งที่ยังมีศักยภาพที่จะทำงานต่อได้ ซึ่งหากปล่อยให้เกษียณ อาจจะทำให้ภาครัฐ “เสียประโยชน์” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ และอีกส่วนคือ หน่วยราชการที่ต้องการและขาดแคลน แต่หาคนมาทำงานไม่ได้ สายงานหลัก ๆ คือ แแพทย์ และนักกฎหมาย ขณะนี้ก็เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถสรรหาบุคลากรได้เองเพียงแต่ให้ ก.พ.เห็นชอบก็สามารถดำเนินการต่ออายุได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ใช่ “นักบริหาร” แต่จะเป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะขั้นสูง