สธ.ยันไวรัส’โควิด-19′ ในไทยไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม เร่งหารือแผนรับมือระบาดระยะ 3

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ. แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม 35 ราย และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 21 ราย เหลือที่อยู่ในการรักษาอาการที่โรงพยาบาล (รพ.) 14 ราย โดยทั่วไปมีอาการปกติ รอเพียงผลการตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการณ์อีกครั้ง ส่วนผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร รายที่ 1 เป็น ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยพยุงปอด หรือเครื่องเอคโม (ECMO) อาการทรงตัวตอบสนองต่อการกระตุ้นได้ดี ส่วนรายที่ 2 ที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อาการทรงตัวยังคงต้องดูแลโดยคณะแพทย์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

รายงานผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,453 ราย คัดกรองจากสนามบิน 68 ราย มารับการรักษาที่ รพ.เอง 1,385 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,121 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาใน รพ.จำนวน 332 ราย และสถานการณ์ทั่วโลกใน 31 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 78,997 ราย เสียชีวิต 2,470 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 76,942 ราย เสียชีวิต 2,444 ราย โดยจำนวนนี้ในประเทศจีนเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง ชายชาวจีน ที่เข้ามารักษาที่ รพ.แม่สอด ด้วยอาการโรคระบบทางเดินหายใจนั้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่งได้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังรักษาต่อตัวอยู่ที่ รพ.เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติจากมีโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ขณะนี้ทุกด่าน ทั้งบก เรือ อากาศ ด่านธรรมชาติ ยังคงเข้มงวดการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางอย่างต่อเนื่อง และคำแนะนำในขณะนี้หากประชาชนเป็นคาดว่าผู้เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวัง แนะนำให้มาที่ รพ.ของรัฐใกล้บ้าน เนื่องจากถ้าเป็นผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและนำ หากเข้าเกณฑ์การสอบสวนก็จะเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังต่อไป

นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ.มีการเฝ้าระวังที่เข้มข้นขึ้นทุกสัปดาห์ โดยเริ่มจาก นิยามที่ 1 มีการคัดกรองที่สนามบินไปจนถึง รพ.โดยใช้เกณฑ์การคัดกรองผู้ที่มีไข้ 38.0 เซลเซียส นิยามที่ 2 ปรับเป็นการคัดกรองไข้ 37.5 เซลเซียส เพื่อให้พบผู้ป่วยมากขึ้น นิยามที่ 3 เพิ่มประเทศการเฝ้าระวังและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว นิยามที่ 4 เฝ้าระวังในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งผลการคัดกรองทำให้พบผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 100 ราย ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีการตรวจมากขึ้นอย่างชัดเจน และมีความตั้งใจค้นหาผู้ติดเชื้อมากขึ้น

ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้มีปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมค่อนข้างมาก ดังนั้นโอกาสและความเสี่ยงของการติดต่อโรคจะมากขึ้นกว่าเดิม กรมการแพทย์จึงเน้นย้ำมาตรการกระบวนการใน รพ. เพิ่มขึ้น เช่น การคัดแยกผู้ป่วยด้วยคิลินิกไข้หวัด (Fever and ARI clinic) มาตรการปรับหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้ป่วยด้วยการวัดไข้จากเดิม 38 เซลเซียส เป็น 37.5 เซลเซียส ไปจนถึงการค้นหาผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ และได้ชี้แจงสิ่งเหล่านี้ไปยังหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน หรือคลินิกต่างๆ เพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้ป่วย หลังจากนี้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจะเป็นตัวกำหนดการระบาดในระยะที่ 3 ส่วนในการเตรียมความพร้อม มีการฝึกซ้อมและเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการร่วมมือใน รพ.ของมหาวิทยาลัย รพ.เอกชน รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร รพ.ของกองทัพ และรพ.ของกรมการแพทย์ และในต่างจังหวัดมีความร่วมมือกันระหว่างส่วนราชการและสาธารณสุข ได้มีการเตรียมความพร้อมแล้ว และได้มีการสำรวจห้องแยกโรคความดันลบ รวมไปถึง รพ.ที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ขณะนี้จึงมีการเตรียมความพร้อมในภาพรวมของทั้งประเทศแล้ว

เมื่อถามว่าในแต่ละระยะของการแพร่ระบาด มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า ในแต่ละระยะมีความแตกต่างกัน โดยระยะที่ 1 มีแต่ผู้ป่วยที่เป็นกรณีนำเข้าจากต่างประเทศ มีการเกิดโรคในต่างประเทศ เช่น ช่วงแรกที่มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ระยะที่ 2 เริ่มมีคนไทยติดเชื้อจากผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ แต่ไม่มีการติดต่อเนื่อง เช่น คนขับรถรับจ้าง คนขายของ ระยะที่ 3 ผู้ที่อยู่ในประเทศ ติดเชื้อมาจากผู้ที่มาจากประเทศ และเริ่มเผยเชื้อให้กับคนในประเทศ เช่น กรณีหญิงสูงอายุรายหนึ่งในประเทศเกาหลีที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 และได้แพร่เชื้อไปยังคนในประเทศจำนวนมาก แต่ยังไม่มีลักษณะแบบนี้ในประเทศไทย ดังนั้นจะมีการประกาศระยะ 3 หรืออย่างไร เป็นไปตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องมีการประกาศ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจุดเสี่ยงในขณะนี้เป็นผู้ที่เข้ามาในประเทศหรือเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศแล้ว นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้มีภารกิจ 2 ด้าน คือ ด้านที่ 1 การลดความเสี่ยงของคนที่อยู่ภายในประเทศไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงจากผู้ที่ป่วยต่างประเทศจำนวน 25 รายที่มีการป่วยในประเทศไทย ดังนั้นจะต้องเฝ้าระวังว่าใน 25 รายนั้นได้เข้ามาในประเทศไทยช่วงเดือนกว่าๆ จะมีการแพร่เชื้อภายในประเทศหรือไม่ จึงจะต้องหาคนไทยที่คาดว่าจะได้รับเชื้อ ด้านที่ 2 คือ การเฝ้าระวังในประเทศที่เพิ่งมีรายงานการระบาดในประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นสิ่งที่ต้องดูแลคนไทยและผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ เพราะถ้าหากไม่สามารถจัดการได้ก็จะเกิดเป็นปัญหา

เมื่อถามว่าการประสานความร่วมมือไปยังสถานพยาบาลเอกชน ในการตั้งคลินิกไข้หวัด ได้รับความร่วมมือมาน้อยแค่ไหน และมีการกำชับอย่างไรบ้าง รวมไปถึงผู้ที่เดินทางเข้ารับการตรวจหาเชื้อในหลายๆ รพ. จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อใน รพ.หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ส่วนการดูแลป้องกันการแพร่เชื้อใน รพ.เอกชนนั้นได้หารือกันไปแล้ว ซึ่งช่วงนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานทั้งระบบ โดยในขณะนี้สถานการณ์โลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จึงจะต้องมีการกำชับเรื่องของขั้นตอนการเฝ้าระวังตามหลักเกณฑ์มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนการคัดกรองให้ไวมากขึ้น เช่น การจัดตั้งคลินิกไข้หวัดที่แยกออกมา รวมถึงการใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองในบุคลากรทางการแพทย์ จึงจะต้องขอความร่วมมือให้มีความตระหนัก และต้องมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น และภาคประชาชนก็จะต้องมีความความร่วมมือในการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโรค