ข่าวดี คนไทย 50 % เตรียมฉีดวัคซีนโควิดฟรี กลางปีหน้า 

Photo by Lionel BONAVENTURE / AFP

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลทดสอบวัคซีนโควิดในคนได้ผล 70% เตรียมจัดสรรฉีดให้คนไทย 

ในวันที่ 27 พ.ย. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม จะเป็นประธานในพิธีการลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าและสัญญาซื้อวัคซีนจากการจอง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ในวันนี้ (วันที่ 24พ.ย.63 ) กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19  โดยนพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ  กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนให้คนไทยว่า  ขณะนี้ บริษัท แอสตรา เซเนก้า ได้ทดสอบวัคซีนในคนระยะที่  3 ภาพรวมมีประสิทธิภาพ  70%    ระหว่างนี้เป็นช่วงการให้ข้อมูลกับ อย. ของสหราชอาณาจักร  และรอการขึ้นทะเบียนในประเทศอังกฤษ  

ส่วนไทยก็จะร่วมผลิตวัคซีนกับแอสตราเซเนก้า ในลักษณะถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์  ซึ่งเป็นของไทยเป็นผู้ผลิต หลังจากนั้นจะผลิตให้เพียงพอกับคนไทยและอาเซียน 

นอกจากนี้ การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ งบประมาณให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จองซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตรา เซเนก้า 26 ล้านโด๊ส  ซึ่งจะฉีดให้คนไทยได้ 13 ล้านคน เมื่อมีวัคซีนแล้วจะมีการกระจายการฉีดให้ประชาชนต่อไป

ผอ.สถาบันวัคซีนกล่าวอีกว่า สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสเตรา เซเนก้าใหักับ สยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นคาดว่าจะผลิตวัคซีนล็อตแรกออกมาได้ โดยวัคซีนที่จะฉีดให้กับคนไทย ก็จะเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศ  ซึ่งการผลิตออกมาจำนวนเท่าไหร่ เพื่อฉีดให้คนไทยจะต้องมีการรายงานให้แอสตราเซเนก้ารับทราบ ซึ่งการผลิตในประเทศมีผลดี ตัดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการขนส่ง เพราะวัคซีนโควิด จะเป็นวัคซีนที่มีอายุสั้น 6 เดือนหรือ 1 ปีเท่านั้น 

นอกจากนี้ วัคซีนที่ทำร่วมกับแอสตราเซเนก้ายังมีราคาถูก เพราะทางแอสตราเซเนก้า ประกาศว่าไม่มีการทำกำไร ราคาที่ขายจะเท่ากับต้นทุนการผลิตเท่านั้น

ส่วนความสามารถผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตได้สูงสุด 200 ล้านโด๊ส ต่อปี หรือประมาณ 15 ล้านโด๊สต่อเดือน หรือผลิตได้ต่ำสุดก็ 2 ล้านโด๊ส  ถ้าไทยผลิตได้เกินประชากรของเรา ก็สามารถกระจายให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ต้องผ่านการเห็นชอบของแอสตราเซเนก้าก่อน ซึ่งจะมีผลดีต่อเรา ทำให้ประเทศเรากลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ถ้าทำให้ไม่มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า  การจะฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งคนทั่วโลกมี 7 พันล้านคน ปกติต้องฉีดคนละ 2 โด๊ส หรือเท่ากับทั้งโลกต้องผลิตวัคซีน 1.4 หมื่นล้านโด๊ส แต่การที่วัคซีนยังไม่มีการผลิตแม้แต่เข็มเดียวเพียงแต่มีการทดลองเฟส 3 ในคน  และมีข้อมูลออกมาอย่างน้อย  3 บริษัท ตอนนี้ทุกคนตั้งคำถามว่า วัคซีน 1.4 หมื่นล้านโด๊ส จะผลิตกันอย่างไร เพราะไม่ใช่ผลิตขาย โรงงานจะผลิตวัคซีนมากขนาดนี้ให้ได้ ในเวลาสั้นๆ คงเป็นเรื่องที่ยากมาก  

“จากประสบการณ์เดิมของเราผลิตวัคซีนแต่ละตัวใช้เวลานานมาก แต่สำหรับวัคซีนโควิด ถือว่าเป็นความก้าวหน้าวิทยาการระดับโลก เพราะเรารู้จักโควิดมาไม่ถึงปี แต่สามารถผ่านการทดสอบความก้าวหน้าระดับเฟส 3 ได้   จากกระแสข่าวว่าขณะนี้มี ประเทศรวย ๆ จองซื้อวัคซีนไปหมด ดังที่เห็นข่าวว่าประเทศอื่น ๆ มีการจองซื้อเป็นแสน ๆ ล้าน แต่เราคงไม่มีเงินมากพอขนาดนั้น”

“แต่เราต้องสามารถหาวัคซีนได้ไม่น้อยหน้ากว่าประเทศอื่น ใน  3 วิธี คือผลิตเองในประเทศซึ่งมีความก้าวหน้า 2. ร่วมวิจัยกับประเทศอื่น เพื่อให้ได้สิทธิ์อันดับต้นๆ ในราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก ดังความร่วมมือกับเอสตราเซเนก้า ซึ่งเราจะได้ในราคาไมแพง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย    3. การแย่งซื้อ แต่เราคงแย่งได้ลำบาก  ดังนันการทีเรามีนโยบายกับเขาตั้งแต่ต้นถือว่าประสบความสำเร็จ”

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า  “ขณะนี้เรามีประชากร 69 ล้านคน  ฉีดคนละ 2 เข็ม แสดงว่า ต้องเตรียมวัคซีน 140 ล้านโด๊ส คงต้องใช้เวลาหาพอสมควร แต่เราตั้งเป้าอย่างน้อยที่สุดต้องฉีดวัคซีนได้ให้ 50% ของประชากร ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจาก  3.7 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าวัคซีน ขนส่ง ค่าเข็ม  ไซริงค์ และระบบเฝ้สระวังหลังฉีด การเก็บรักษา  การสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชน”

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า  หลังจากนั้น จะต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับการฉีด ซึ่งตาม พ.ร.บ.วัคซีนแห่งขาติ ผู้กำหนดว่าจะฉีดให้ คือ 1.คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ 2.คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะเป็นผู้กำหนด

“ตามหลักการปกติของประเทศไทย การฉีดวัคซีนในประเทศ คือ การบริการประชาชน  ซึ่งจะอยู่ในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพ และกองทุนอื่น ๆ ด้วย  จึงเป็นฉีดใม่คิดมูลค่า  ซึ่งเบื้องต้นกลุ่มที่จะได้รับการฉีดกลุ่มแรกจะเป็นบุคคลากรทางการแพทย์และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มเด็ก และแม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ”

คาดว่าจะได้รับวัคซีนกลางปีหน้า เนื่องจากมีความร่วมมือผลิตวัคซีนในประเทศไทยและเป็นโอกาสในการสร้างขีดความสามารถของประเทศเพื่อความมั่นคงในระยะยาว

“ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนจะต้องมีขั้นตอนเตรียมการ  โดยต้องมีการสำรวจความเห็นประชาชน  ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจครบถ้วน  เพราะอาจจะมีคนที่ทั้งอยากฉีดและไม่อยากฉีด แต่ทางสธ.ขอให้มั่นใจวัคซีนมีประสิทธิภาพดี และหลังจากมีการฉีดแล้ว จะต้องติดตามผลหลังการฉีด 6 เดือน หรือ 1 ปี” นพ.โอภาสกล่าว