เปิดคำตัดสินคุก 3 ปีละเอียดยิบ! “เบญจา” อดีตรมช.คลัง คดีช่วย “โอ๊ค-เอม” เลี่ยงภาษีหุ้น

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 ต่อแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

โดย ป.ป.ช. โจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง5ต่อแผนกคดีทุจริตฯ ในศาลอาญา เมื่อวันที่3 ธันวาคม 2558 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร โดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท การกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธในการต่อสู้คดี

ขณะที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่28 กรกฎาคม 2559 ว่า นางเบญจา น.ส.จำรัส น.ส.โมรีรัตน์ และนายกริช จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ส่วน น.ส.ปราณี จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมด จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ต่อมาจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์คดี และได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ศาลตีราคาประกันจำเลยคนละ 300,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการปล่อยชั่วคราว

โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ความยาว 58 หน้า มีเนื้อหาสรุปว่า ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง5 ที่ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่พิจารณาว่า ประเด็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เกี่ยวกับกรณีบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่พนักงานหรือขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด มีปัญหาว่าการออกหุ้นดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา40 (1) หรือไม่

คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรลงมติว่า พนักงานลูกจ้างได้รับเงินไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายกันในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นเงินได้พึงประเมิน มีการร่างคำวินิจฉัยเสนอต่อปลัดกระทรวงการคลังแล้ว ปลัดฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการวินิจฉัยได้ลงชื่อในคำวินิจฉัยที่ 28/2538 ดังกล่าว ว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ รวมถึงหุ้นทุกประเภทไม่ได้จำกัดเฉพาะหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นทุนแต่อย่างใด แต่จำเลยเห็นว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นทุนเท่านั้น เพราะจำเลยทั้ง5เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 41 กำหนดไว้ว่า ผู้อยู่ในประเทศไทยมีรายได้พึงประเมินและต้องเสียภาษีเงินได้ แต่กรณีการซื้อขายหุ้นต่ำกว่าราคาท้องตลาดนั้น จำเลยที่ 1 และ 3 กับนายสมพงษ์ ตัณฑพาทย์ รองอธิบดีกรมสรรพากร พยานจำเลย เบิกความทำนองเดียวกันว่า การซื้อหุ้นในราคาถูกไม่มีกฎหมายประเมินผู้ซื้อ โดยกรมสรรพากรจะประเมินผู้ขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ดังนั้นในธุรกรรมเดียวกัน กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากผู้ขายได้อยู่แล้ว จึงไม่มีการจัดเก็บภาษีจากผู้ซื้ออีก ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรมกับผู้ซื้อ และกฎหมายเฉพาะมาตรา 40 (4) (ข) กำหนดว่า เมื่อผู้ขายขายแล้วมีกำไร ต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้ แต่ถ้าขายเท่าทุนหรือขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี

เรื่องนี้มีแนวตอบข้อหารือของกรมสรรพากรในสาระสำคัญคือ ผู้ขายหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาด เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินตามราคาตลาด พยานจำเลยเบิกความสนับสนุนแนวทางดังกล่าวว่า ส่วนผู้ซื้อนั้นยังไม่ถือว่ามีเงินได้จนกว่าจะมีการขายทรัพย์สินและมีกำไร และยังมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาด้วย ส่วนนิยามคำว่าหุ้นทุนหรือหุ้นฝ่ายทุนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ว่า ห้ามขายต่ำกว่าราคาที่ตราไว้ แต่ขายสูงกว่าได้ ส่วนต่างที่สูงกว่านั้นไม่ถือเป็นรายได้ของผู้ขาย และไม่ต้องเสียภาษี โดยหุ้นทุนนั้นมี 2 ประเภท คือหุ้นสามัญที่บริษัทออกเองในครั้งแรกของการจัดตั้งบริษัท และหุ้นเพิ่มทุน
ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า คำวินิจฉัยภาษีที่28/2538 มีข้อความระบุว่า กรมสรรพากรขอให้คณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำหุ้นไปแจกหรือขายในราคาต่ำกว่าตลาดให้กับพนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกัน ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ จำนวนเท่าใด

คณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยว่า กรณีเช่นนั้นที่มีการนำหุ้นไปขายให้กับบุคคลตามข้อตกลงพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด กรณีย่อมถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวรับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 แล้ว จึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น ไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอน และไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนอกตลาด

คำให้การของอดีตที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์จัดเก็บภาษี พยานโจทก์เบิกความว่า คำวินิจฉัยนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะหุ้นเพิ่มทุน แต่รวมถึงหุ้นทั่วไป ในคำวินิจฉัยนั้นไม่ได้ใช้คำว่าหุ้นเพิ่มทุน ดังนั้นเมื่อพิจารณาที่มาของคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 แล้ว คณะกรรมการฯ มีเจตนาต้องการใช้คำว่า “หุ้น” จึงหมายถึง “หุ้น” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ์ โดยมีความหมายรวมถึงหุ้นทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเอง หุ้นของบริษัทอื่นที่บริษัทได้มา ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทในประเทศหรือต่างประเทศ หุ้นที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นในบริษัทอื่น ทั้งในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาดหลักทรัพย์

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ที่ 28/2538 ว่าจะหมายความเฉพาะหุ้นเพิ่มทุนตามที่จำเลยทั้ง5กล่าวอ้าง ดังนั้น การซื้อขายหุ้นระหว่างบริษัทแอมเพิลริช กับนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด เข้าเงื่อนไขคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 จึงต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 อุทธรณ์ของจำเลยทั้ง5ฟังไม่ขึ้น
คดีต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่1-4 อีกว่า หนังสือตอบข้อหารือขัดกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 หรือไม่ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่า การตอบข้อหารือของจำเลยนั้นขัดกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ โดยจำเลยที่ 1-4 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เพราะการตอบข้อหารือของจำเลยไม่ใช่หุ้นเพิ่มทุน จึงไม่เข้าลักษณะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ โดยศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า น.ส.ปราณี คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 5 ได้หารือถึงอธิบดีกรมสรรพากรว่า บ.แอมเพิลริช ตกลงขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปฯ ที่ถือทั้งหมดให้นายพานทองแท้ โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แล้ว มีภาระต้องชำระภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่

โดยประเด็นนี้มีรองอธิบดีกรมสรรพากรรับผิดชอบงานกฎหมาย พยานจำเลยเบิกความตอบโจทก์ว่า ถ้าขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 42 (17) ประกอบกฎกระทรวง แต่ถ้าเป็นการขายนอกตลาดหลักทรัพย์ตามข้อหารือ ผู้ซื้อยังไม่มีภาระภาษีจนกว่าจะขาย เมื่อหุ้นที่นายพานทองแท้ซื้อเป็นหุ้นที่ บ.แอมเพิลริช ถือไว้ และการซื้อหุ้นในราคาถูก ส่วนต่างของราคาไม่เป็นเงินได้ของผู้ซื้อ และไม่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 ดังนั้นการจะตอบข้อหารือก็จะต้องพิจารณาก่อนว่า หุ้นที่นายพานทองแท้กับ น.ส.พินทองทา ซื้อเป็นหุ้นประเภทใด เพราะกรมสรรพากรมีแนวทางในการตอบข้อหารือระหว่างหุ้นทุน หุ้นเพิ่มทุน หรือหุ้นที่บริษัทผู้ขายถือไว้เป็นทรัพย์สินนั้นแตกต่างกัน โดยเมื่อพิจารณาหนังสือข้อหารือแล้ว ก็ทราบว่านายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา เป็นกรรมการของ บ.แอมเพิลริช แต่หุ้นที่ทั้งสองซื้อเป็นหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปฯ ซึ่ง บ.แอมเพิลริช ถือไว้เป็นทรัพย์สิน จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทั้งสองซื้อหุ้นทุนหรือหุ้นเพิ่มทุนของแอมเพิลริชแต่อย่างใด การซื้อหุ้นที่ถือไว้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้านั้น แนวทางการตอบข้อหารือของกรมสรรพากรยึดถือมาตลอดว่า ยังไม่ถือว่าทั้งสองที่เป็นผู้ซื้อมีเงินได้พึงประเมิน ข้อเท็จจริงที่หารือนั้นจึงเป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ

ดังนั้นการตอบข้อหารือจึงไม่ขัดกับแนวทางคำวินิจฉัยที่ 28/2538 แต่ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า เมื่อคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 หมายถึงหุ้นทุกประเภท การตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1-4 จะต้องใช้ดุลยพินิจตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องด้วย แต่ปรากฏว่ากรณีนี้ กรมสรรพากรเคยมีหนังสือรับด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2543 ถึงประธานอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช.แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระภาษี สรุปได้ความว่า กรณีบุคคลธรรมดาซื้อหุ้นโดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าหุ้นบริษัทนั้นจะจดหรือไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ซื้อหุ้นไม่มีเงินได้พึงประเมิน จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่เป็นการซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาที่พึงมี ซึ่งผลต่างระหว่างราคาที่พึงมีกับราคาซื้อเข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 ผู้ซื้อต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ดังนั้นการที่จำเลยที่1-4 ตอบข้อหารือเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น แต่กลับใช้ดุลยพินิจตอบข้อหารือให้กับจำเลยที่ 5 แตกต่างกันว่า การซื้อหุ้นราคาต่ำกว่าตลาดเป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วไปของการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 ส่วนต่างของราคากับราคาตลาดจึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ในคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-4 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยทั้ง5อุทธรณ์ว่า การตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1-4 นั้น ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะข้อหารือไม่ผูกพันกรมสรรพากรและเจ้าพนักงานประเมิน ที่จะตรวจสอบและประเมินเรียกเก็บภาษี การตอบข้อหารือยังไม่เป็นที่ยุติ หากพนักงานประเมินไม่เห็นด้วยกับคำตอบ อาจไม่ปฏิบัติตามได้และยังสามารถประเมินเรียกเก็บภาษีได้อยู่ และจำเลยที่ 5 ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1-4 มาก่อน เพียงแต่มีหนังสือสอบถามเรื่องภาษีที่ตัวเองไม่ทราบ การกระทำของจำเลยจึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร แต่ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันตอบข้อหารือโดยอ้างว่า กรณีแอมเพิลริชขายหุ้นราคา 1 บาท ให้กับนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา เป็นเรื่องปกติในการค้าการซื้อทรัพย์สินในราคาถูกที่เป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 ส่วนต่างของราคาจึงไม่เข้าลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา39 ส่วนจำเลยที่ 5 จะมีส่วนช่วยในการกระทำผิดด้วยหรือไม่นั้น ต้องอาศัยกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา โดยดูว่าการกระทำมีพิรุธส่อเจตนาช่วยกระทำผิดหรือไม่

ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า จำเลยที่ 5 เบิกความไว้ว่า ตนเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านภาษีและเป็นที่ปรึกษาของบริษัทในกลุ่มชินวัตรจนถึงปัจจุบัน และรู้จักกับครอบครัวชินวัตรตั้งแต่นายทักษิณ คุณหญิงพจมาน รวมถึงพี่น้องของนายทักษิณด้วย มีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 5 จึงย่อมรู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าแอมเพิลริชยังไม่ได้ขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปฯ ให้กับนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา แต่ในหนังสือสอบถามของจำเลย อ่านแล้วเข้าใจว่ามีการโอนซื้อขายหุ้นไปแล้ว อันเป็นการกระทำให้กรมสรรพากรเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เรื่องในอนาคตที่จะกลายเป็นเรื่องสมมติ โดยอาชีพของจำเลยที่ 5 ย่อมแสดงว่าจำเลยทราบเงื่อนไขเกี่ยวกับการตอบข้อซักถามของเจ้าพนักงานในกรมสรรพากรเป็นอย่างดีว่า หากเป็นเรื่องสมมติ คำถามของจำเลยที่ 5 จะไม่ได้รับคำตอบ จำเลยที่ 5 จึงต้องทำหนังสือสอบถามในลักษณะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ถือเป็นข้อพิรุธที่สุจริตชนไม่ทำกัน

และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือสอบถามเพิ่มเติมมายังจำเลยที่ 5 ว่ามีการขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้เมื่อใด จำเลยที่ 5 ก็มิได้ตอบคำถามที่กรมสรรพากรสอบถาม จำเลยยังคงปกปิดข้อเท็จจริงนี้ไว้ จึงเป็นพิรุธ การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการจงใจทำหนังสือหารือกรมสรรพากรเพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานกรมสรรพากรร่วมกันตอบข้อหารือโดยไม่ขัดกับเงื่อนไขการตอบข้อหารือ อันเป็นการกระทำโดยแบ่งหน้าที่กันทำ และเมื่อจำเลยที่ 5 ได้รับหนังสือตอบข้อหารือก็นำไปมอบให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการของคุณหญิงพจมาน และต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 แอมเพิลริช นำหุ้น บมจ.ชินคอร์ปฯ ไปขายให้กับนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา เป็นกรรมการของแอมเพิลริชคนละ 164,600,000 หุ้นๆ ละ 1 บาท รวมเป็นเงิน 164,600,000 บาท ในขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือว่านายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 จำนวนคนละ 7,941,950,000 บาท ที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2549 จากการได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นแต่เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ปรากฏว่านายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90 ประจำปี 2549 โดยไม่ได้แสดงรายการเงินได้จากส่วนต่างราคาซื้อหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ป

กรณีดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า การทำหนังสือสอบถามของจำเลยที่ 5 และการตอบหนังสือหารือของจำเลยที่ 1-4 เป็นการร่วมกันกระทำโดยเจตนาเพื่อให้นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากการซื้อหุ้นราคาต่ำกว่าราคาตลาด ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงในปีภาษีดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายกับกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการอย่างชัดแจ้ง อันเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ด้วยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 5 อ้างว่า ป.ป.ช.ชุดที่ลงมติให้ฟ้องคดีจำเลยทั้ง5นั้น ในส่วนของนายภักดี โพธิศิริ ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 11 ที่ว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทฯ วรรคสองของกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่าผู้ที่ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือก นายภักดีไม่ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมเมอริเออร์ชีวะวัตถุ จำกัด ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายภักดีไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีผลให้ต้องถือว่าไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. และการลงมติที่ให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งมีนายภักดีร่วมลงมติด้วยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น

ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่รับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นเพียงการรับเรื่องและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตรวจสอบต่อไป สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องการขาดคุณสมบัติของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 11 และข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ข้อยุติว่านายภักดีขาดคุณสมบัติหรือไม่ และหลังจากนายภักดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ป.ป.ช. ก็ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีอำนาจตามกฎหมายวินิจฉัยชี้ขาดว่านายภักดี ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. กรณีจึงต้องฟังว่านายภักดียังคงมีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ การฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2, 3, 5 ในประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า สภาพความผิดของจำเลยทั้ง5 เป็นการกระทำโดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายและความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศชาติ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยที่ 5 จะอ้างว่าเรื่องนี้ในที่สุดแล้วก็มิได้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว และศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีของกรมสรรพากรไปแล้ว มาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลรอการลงโทษไม่ได้

ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง5ในอัตราโทษที่ไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2, 3, 5 ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้ง5เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์ฯ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้ง5ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์