ลุ้นโหวตแผนฟื้นฟูชี้ชะตาการบินไทย เจ้าหนี้งัดไม้ตายคืนสิทธิพิเศษ

ประชุมเจ้าหนี้การบินไทย
ภาพจากเฟซบุ๊ก Suvarnabhumi Airport

12 พ.ค. ประชุมเจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูชี้ชะตา “การบินไทย” คณะผู้ทำแผนผนึกเจ้าหนี้แบงก์เสนอแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ล็อบบี้เจ้าหนี้โหวตเห็นชอบ เผยเจ้าหนี้ต่อรองเงื่อนไขรัฐต้องสนับสนุน คืนสิทธิพิเศษธุรกิจการบิน แบงก์กรุงเทพนำทีมคุมบริหารแผนส่ง 2 กุนซือ อดีต รมว.พลังงาน-“ไกรสร บารมีอวยชัย” ร่วมบริหารเผยเบื้องหลังคลังเลื่อนชง ครม.คืนสภาพกลับเป็นรัฐวิสาหกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ซึ่งเดิมมีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอวาระให้ บมจ.การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ ก่อนวันนัดประชุมเจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูกิจการวันที่ 12 พ.ค. แต่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังไม่ได้เสนอเรื่องนี้เข้าพิจารณาใน ครม. ท่ามกลางกระแสคัดค้านของกระทรวงคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง

ยื่นขอแก้แผนฟื้นฟู 15 ราย

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า จากที่ได้มีการประกาศนัดประชุมเจ้าหนี้ 13,133 ราย เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ วันที่ 12 พ.ค. 2564 ซึ่งตามกฎหมายเปิดให้เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ภายใน 7 พ.ค. 2564 ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูการบินไทยทั้งหมด 15 ฉบับ ซึ่งมีส่วนของเจ้าหนี้ 14 ราย อาทิ กรมศุลกากร, ธนาคารออมสิน, บริษัท จีอี เอ็นจิ้น เซอร์วิสเซส, ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย, เอเอส แอร์ไลน์ 82 (ไอร์แลนด์), บีโอซี เอวิเอชั่น ลิมิเต็ด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ และในส่วนของคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย (ลูกหนี้) ที่นำโดยบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส

การบินไทยรื้อแผน

แหล่งข่าวกล่าวว่า คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนการบินไทย (ลูกหนี้) ฉบับวันที่ 7 พ.ค. 2564 ระบุถึงเหตุผลการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูว่า หลังจากผู้ทำแผนได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลัก ทั้งเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูและเจ้าหนี้ที่มีโอกาสให้การสนับสนุนทางการเงิน เห็นพ้องต้องกันว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู จนเพียงพอที่เจ้าหนี้จะให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูตลอดจนเม็ดเงินได้คือ การที่การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้น ผู้ทำแผนจึงได้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ ลำดับการจัดสรรกระแสเงินสด การจัดหาประโยชน์ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยการกู้ยืมเงินใหม่เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

แบงก์ยอมแลกแฮร์คัต

พร้อมด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การบินไทยมีภาระหนี้สอดคล้องกับสภาวะทางการเงิน โดยแผนเสนอให้มีการลดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน รวมถึงการปรับโครงสร้างทุน รองรับการแปลงหนี้เป็นทุน หรือการเพิ่มทุนจากเจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่ เมื่อการดำเนินธุรกิจการบินกลับสู่ภาวะปกติ

รวมถึงแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ในการแยกหน่วยธุรกิจ เช่น ครัวการบิน การให้บริการ ภาคพื้นดิน บริการขนส่งทางอากาศและคลังสินค้า และการซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น จัดตั้งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยการบินไทย ตลอดจนแก้ไขอำนาจผู้บริหารแผน อาจพิจารณาขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและร่วมที่มีอยู่ หรือที่จัดตั้งขึ้นใหม่ให้นักลงทุนที่สนใจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน รวมถึงการขายทรัพย์สินส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหลัก

BBL ขอคุมทีมบริหารแผน

นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขของการบินไทยได้ยื่นคำร้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผน จากแผนฟื้นฟูฉบับ 2 มีนาคม 2565 ได้เสนอชื่อ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผน ฉบับแก้ไขได้เสนอชื่อนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง ด้านบริหาร แทนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล

แหล่งข่าวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ไม่มีหลักประกันรายใหญ่สุด มูลหนี้ 9,344 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเป็นแกนนำเจ้าหนี้รายใหญ่ในการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟู ร่วมกับทางคณะผู้ทำแผนในหลายประเด็น นอกจากนี้ ทางธนาคารกรุงเทพก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วน “ผู้บริหารแผน” โดยได้เสนอรายชื่อผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 ราย คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าเป็นผู้บริหารแผนร่วม

เปลี่ยนแผนไม่เข้า ครม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังยังไม่ได้เสนอ เรื่อง การคืนสถานะรัฐวิสาหกิจให้ บมจ.การบินไทย ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา เนื่องจากต้องการให้เป็นไปตามขั้นตอน และอำนาจการพิจารณาของศาล รวมถึงต้องรอมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 12 พ.ค.ก่อนด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้โหวตรับแผน

“วันที่ 12 พ.ค. ไม่น่ามีประเด็นที่เจ้าหนี้ไม่เห็นด้วย เนื่องจากคณะผู้ทำแผนได้หารือนอกรอบกับเจ้าหนี้หลักถึงแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขล่าสุดแล้ว โดยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เป็นต้น ได้หารือร่วมกันหมดแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่เจ้าหนี้จะโหวตไม่รับแผน ส่วนรัฐบาลก็ไม่มีความเห็นอะไร เนื่องจาก ครม.เห็นว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ที่จะไปหารือกันเอง รัฐบาลเพียงมีหน้าที่ดูแลนโยบายในฐานะสายการบินแห่งชาติ ซึ่งก็ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนของศาลล้มละลายก่อน การประชุม ครม.ในวันที่ 11 พ.ค. 64 จึงไม่ได้หารือกันเรื่องนี้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขั้นตอนการดำเนินการแผนฟื้นฟูของการบินไทย ไม่จำเป็นต้องเสนอ ครม.ก็ได้ แต่ที่กระทรวงการคลังต้องเสนอนั้นเป็นไปตามรายงานมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 ซึ่งไม่ได้เป็นการเสนอให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงการคลังจะต้องเสนอให้ ครม.รับทราบ

ออมสินยกมือรับแผน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้ออมสินอยู่ระหว่างติดตามว่าจะมีการเลื่อนประชุมโหวตรับแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ในวันที่ 12 พ.ค.หรือไม่ เนื่องจากทราบว่ามีเจ้าหนี้บางรายจะขอปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ฉะนั้นจึงอาจมีโอกาสเลื่อนประชุมโหวตรับแผนฟื้นฟูกิจการได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนของธนาคารออมสินมีความพร้อมในการโหวตรับแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะจากการพิจารณาแผนฟื้นฟูแล้ว การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะดีกว่ากระบวนการล้มละลาย

ล็อบบี้โหวตรับแผนฟื้นฟู

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ยังไม่มีการเสนอการทำให้ บมจ.การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เนื่องจากนายกรัฐมนตรียังไม่ต้องการพิจารณาเรื่องนี้ในตอนนี้ รวมถึงคงไม่มีรัฐมนตรีรายใดกล้าพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้ตอนนี้ โดยรัฐบาลจะรอฟังมติที่ประชุมเจ้าหนี้วันที่ 12 พ.ค.ก่อน ว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งหลังมีการโหวตรับแผนแล้ว ก็ต้องว่ากันต่อไป ยังไม่จบ

“ชั่วโมงนี้ไม่มีใครกล้าไปตัดสินใจเรื่องการค้ำประกันให้การบินไทยแน่นอน ซึ่งก็มีวิธีอื่น ๆ ที่จะใส่เงินเข้าไปได้อีก หากไม่ค้ำประกันเงินกู้ของการบินไทย เพราะการบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องดูว่า ไปค้ำแบงก์รัฐที่จะใส่เงินให้การบินไทยแทนได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี การบินไทยก็ต้องไปต่อ พอโหวตแผนเสร็จ ก็จะมีการใส่เงินแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า เจ้าหนี้ก็คงโหวตแผนฟื้นฟูให้ผ่าน เพราะล่าสุดมีการเสนอแก้แผนฟื้นฟูในหลายเรื่อง ที่เมื่อแก้แล้วก็ยอมรับได้ อาทิ มีการเปลี่ยนผู้บริหารแผน จากนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เป็นนายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนอีกรายยังเป็น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เหมือนเดิม ขณะที่ธนาคารกรุงเทพก็อาจจะมีการเสนอส่งคนเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่กลุ่มเจ้าหนี้ 34 รายที่เป็นเจ้าหนี้เกี่ยวกับการซ่อมบำรุง มีการขอเปลี่ยนแผนให้ชำระหนี้เร็วขึ้น ซึ่งก็คงต้องยอม เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะกระทบทำให้เครื่องขึ้นบินไม่ได้ แต่โดยภาพรวมไม่ได้กระทบแผนฟื้นฟูทั้งหมด

แผนใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการใส่เงินใหม่ยังคงระบุให้เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท และสินเชื่อจากภาคเอกชน 25,000 ล้านบาท แต่แผนฟื้นฟูไม่ได้บอกชัดเจนถึงวิธีการใส่เงิน ดังนั้นก็จะเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนไปพิจารณาดำเนินการต่อไปหลังจากเดินหน้าแผนฟื้นฟูแล้ว ซึ่งก็อาจเสนอให้รัฐบาลค้ำประกัน หรือให้ผู้ที่ใส่เงินก้อนใหม่ได้บุริมสิทธิก่อนเจ้าหนี้เดิม โดยก็ต้องดูว่าถ้าเจ้าหนี้ใหม่จะใส่เงิน จะเรียกร้องเงื่อนไขอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งก็คงมีการเรียกหลักประกันจากเงินที่ใส่เข้าไปเพิ่ม ตรงนี้ต้องขึ้นกับที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติกันอีกที

“แบงก์กรุงเทพคงจะเข้าไปเป็นเจ้าหนี้ใหม่ด้วย และเป็นผู้นำในการคุมบริหารแผน และเมื่อใส่เงินก็คงเรียกหลักประกันเพิ่ม โดยต้องได้บุริมสิทธิด้วย รวมถึงมีเงื่อนไขว่า หากจะให้ปล่อยกู้ก็ต้องมีบิสซิเนสโมเดลใหม่ ต้องทำอะไรบ้าง และสุดท้ายก็จะดูว่า รัฐบาลจะช่วยอะไรบ้าง อย่างเช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สิทธิประโยชน์ทางการบิน จะยังคงได้รับเหมือนเดิมหรือไม่ ก็คือการให้เป็นสายการบินแห่งชาตินั่นเอง ซึ่งในทางปฏิบัติก็จะเป็นขั้นตอนต่อไปหลังจากแผนเดินหน้าแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ลุ้นระทึกโหวตแผนฟื้นฟู

แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินไทยกล่าวว่า จากที่ไม่มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาที่ประชุม ครม. ก็ทำให้การประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.นี้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เพราะเดิมเจ้าหนี้ต้องการสร้างความมั่นใจเรื่องที่ให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นก็ต้องรอดูว่าในส่วนของเจ้าหนี้แบงก์จะโหวตรับแผนฟื้นฟูหรือไม่ หรือในกรณีเจ้าหนี้รวมตัวเกิน 10% ของมูลหนี้ สามารถยื่นขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อนได้

“ศักดิ์สยาม” โบ้ยให้ถามคลัง

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุม ครม.ยังไม่มีวาระพิจารณาขอเปลี่ยนมติที่ประชุม ครม.เมื่อ 19 พ.ค. 2563 ให้การบินไทยกับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายกำกับรัฐวิสาหกิจ ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดูแล ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ คมนาคมไม่ได้มีส่วนในการเสนอแนวทางดังกล่าว ขอให้สอบถามรายละเอียดจากกระทรวงการคลังจะดีกว่า

คลังเพิ่มทุนอาจผิด ม.157

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า กรณีแผนฟื้นฟูการบินไทยไม่เข้าสู่ที่ประชุม ครม. 11 พ.ค.ว่า หากแผนฟื้นฟูกิจการที่แก้ไขใหม่ ที่ให้คลังค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท และต้องแปลงสภาพการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ ประเภทที่ 3 ผ่าน จะประสบปัญหามากมาย

“มติ ครม.เมื่อ 19 พ.ค. 2563 ให้การบินไทยออกจากรัฐวิสาหกิจเด็ดขาด เพื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟู เพราะถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจฟื้นฟูไม่ได้ จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย และคำสั่งศาลเท่านั้น ซึ่งการเสนอแผนให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอาจขัดกับคำสั่งศาล นอกจากนี้ มติ ครม.ดังกล่าวยังมอบให้คมนาคมรับผิดชอบ ไม่ใช่กระทรวงการคลัง การกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ศาลจะรับหรือไม่ สุดท้ายแล้วจะอยู่ที่ศาล ซึ่งถ้าเสนอแผนที่ขัดแย้งกับอำนาจศาล ศาลอาจจะไม่รับ”

“ประเด็นสำคัญคือมีข้อสังเกตในข้อกฎหมาย และในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารพาณิชย์และแบงก์รัฐจะให้กู้ เนื่องจากการบินไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบแสนกว่าล้านบาท และเป็นไปไม่ได้ที่คลังในฐานะผู้ถือหุ้นจะเพิ่มทุนให้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ท้วงติงการให้คลังใส่เงินให้การบินไทย และอาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวว่า วันที่ 12 พ.ค. 64 ซึ่งเป็นการประชุมเจ้าหนี้ 13,133 ราย เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟู ประกอบด้วย แผนหลัก 1 ฉบับ (ฉบับแก้ไขวันที่ 7 พ.ค. 64) และแผนของเจ้าหนี้ที่ยื่นขอแก้ไขแผน 15 ราย (รวมแผนของการบินไทย) ตามขั้นตอนลำดับแรก จะต้องมีการพิจารณาในส่วนของคำร้องยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟู 15 รายก่อน แผนแก้ไขของเจ้าหนี้รายใดผ่านก็จะนำมาผนวกกับแผนหลัก เพื่อให้เจ้าหนี้โหวต โดยแผนที่จะผ่านต้องได้เสียงเกินครึ่งของจำนวนยอดหนี้ทั้งหมด โดยกลุ่มหุ้นกู้มีน้ำหนักเสียงสูงสุด ประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากมีมูลหนี้ 74,180 ล้านบาท