ศบค. พบคลัสเตอร์ใหม่ “บางนา-สาทร” คลองสาน ชุมชนติดโควิดอื้อ 30 คน

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค. เผย กทม.เจอคลัสเตอร์ใหม่ติดเชื้อโควิด  2 เขต ที่บางนา และสาทร เป็นแคมป์ก่อสร้างและชุมชน  ขณะที่เขตคลองสาน พบชุมชนบางลำภูล่าง ติดเชื้อไป 30 คน ชี้วันนี้กทม.นำโด่ง 1,356 ราย ที่ประชุมห่วงการขนย้ายแรงงานโรงงานชำแหละไก่ ทั้งที่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 5,485 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,101 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อ 5,485 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 3,532 ราย และเป็นการติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,953 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 130,929 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 50,416 ราย อาการหนัก 1,233 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 ราย

สรุปยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 154,307 ราย ซึ่งวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 937 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 1,031 ราย

สำหรับตัวเลขที่แยกมา 10 จังหวัด พบว่า พื้นที่กทม.วันนี้เกินกว่าพันคน โดยวันนี้กทม.ยังเป็นอันดับ 1 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,356 ราย ขณะที่จังหวัดอื่นๆ 71 จังหวัด มีผู้ป่วยรวม 3,475 ราย

รองลงมาอันดับ 2.เป็น จ.เพชรบุรี  จำนวน 555 ราย 3.สมุทรปราการ 358 ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่โรงงานแปรรูปอาหารสำเร็จรูปจากสัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ ซึ่งมีคนงานทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา รวมทั้งยังมีคอนโดมีเนียม ตลาดสำโรง ชุมชน และตลาดเคหะบางพลี

4.สระบุรี มีการกระจายอยู่ในโรงงานแปรรูปไก่ 5.ปทุมธานี ยังมีที่ตลาดแอร์ รวมทั้งยังมีรายงานที่ลำลูกกา เป็นโรงงานแปรรูปไก่ มีแรงงานทั้งชาวไทย เมียนมา  6.นนทบุรี 7.ตรัง 8.ชลบุรี 9. ฉะเชิงเทรา 10.สมุทรสาคร

“ในส่วนของเพชรบุรี ยังอยู่ที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีหลายสัญชาติทำงานที่นี่ รวมถึงชาวอินเดีย ชาวจีน  อันดับที่ 7 จ.ตรัง มีโรงงานผลิตถุงมือ และเริ่มเห็นการแพร่ระบาดไปยังชุมชนอย่างต่อเนื่องด้วย

8.ชลบุรี 62 ราย หลักๆจะยู่ที่ อ.เมือง คือชุมชนบางทราย มีแรงงานทั้งชาวไทย เมียนมา และกัมพูชา ศรีราชามีรายงานเป็นตลาดสด และมีการติดไปที่ชุมชนด้วย

อันดับที่ 9. ฉะเชิงเทรา เป็นโรงงานชำแหละไก่ คล้ายๆกับที่รายงานคลัสเตอร์ 1-8 ก่อนหน้า เป็นแรงงานที่มีการอาศัยอยู่ร่วมกันหลายๆเชื้อชาติ และ10 สมุทรสาคร” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

ในส่วนของกทม.วันนี้มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ 1,356 ราย ทั้งหมดจะเห็นตัวเลขที่แบ่งแยก กล่าวคือถ้าเป็นการพบในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยที่เดินเข้ารับการบริการ แต่ถ้าเป็นการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นตลาดชุมชน โรงงาน สถานประกอบการ ส่วนใหญ่ตัวเลขจะอยู่ที่ชาวต่างชาติ

“วันนี้กทม.รายงานในส่วนของคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังมีที่พบใหม่เป็นเขตบางนา เป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง และที่เขตสาทร เป็นชุมชนแห่งหนึ่ง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวถึงคลัสเตอร์ใหม่

นอกจากนี้ในส่วนของ 45 คลัสเตอร์ที่ติดตามพบว่า สถานการณ์ดีขึ้น ไม่พบการรายงานการติดเชื้อบางคลัสเตอร์ก็เกิน 14 วันแล้ว  และในส่วนที่ยังไม่พบเชื้อยังเป็นเขตที่มีการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองเชิงรุก และมีการที่จะพยายามเฝ้าระวังควบคุมโรค

สำหรับเขตที่ยังไม่มีรายงานคลัสเตอร์ใหม่ จะมี เขตวังทองหลาง ลาดกระบัง บึงกุ่ม สะพานสูง พระโขนง คันนายาว พญาไท ตลิ่งชัน บางกอกใหญ่ จอมทอง ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ บางบอน หนองแขม บางขุนเทียน สายไหม คันนายาว

“ส่วนเขตคลองสาน ก่อนหน้านี้ไม่มี แต่วันนี้มีรายงานพบจากการคัดกรองเชิงรุกที่ ชุมชนคลองต้นไทร บางลำภูล่าง มีการรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 30 ราย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

สำหรับพื้นที่กทม.วันนี้ ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA : จิสด้า ได้นำเสนอภาพการกระจายตัวอย่างชัดเจนในส่วนของตลาด หลังจากที่กทม.ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมด ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีทั้งสิ้น 486 ตลาด โดยกทม.ได้จัดตั้งจุดตรวจให้มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงบางพื้นที่ที่แม้จะยังไม่มีรายงานการติดเชื้อก็จะระดมสุ่มตรวจด้วยและอยากให้เจ้าของตลาดประเมินตัวเองผ่านเว็บไซต์ Thai stop COVID-19

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีความเป็นห่วง และขอให้กทม.มีการพิจารณาว่าจำเป็นต้องขอความช่วยเหลืออย่างไรต่อไปในการระดมตรวจเพิ่มขึ้น

“มีสิ่งที่พี่น้องประชาชนฝากมาว่า เมื่อวานนี้ (30พ.ค.) ศบค.มีการรายงานในส่วนของห้วยขวาง ขออนุญาตทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า การระบาดที่ห้วยขวางที่กทม.รายงานวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งศบค.ได้รายงานเมื่อวาน (30 พ.ค.) ขอเน้นย้ำว่า เป็นชุมชนโรงปูนและแคมป์ก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกที่ตลาดด้วย แต่ขอเน้นย้ำว่ารายงานผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากโรงปูนและแคมป์ก่อสร้าง ไม่ใช่ตลาดห้วยขวาง ”

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค. วันนี้ยังมีการพูดคุยถึงกรณีโรงงานผลิตอาหาร เช่น ที่โรงงานชำแหละไก่ ซึ่งมีการรายงานทั้งที่ฉะเชิงเทรา สระบุรีก่อนหน้านี้ และที่ปทุมธานี ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะต้องมีการทบทวนว่ามีปัจจัยอะไร หรือปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ

“ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้หรือไม่ เช่น พนักงานเหล่านี้อาจจะพักอาศัยในที่พักเดียวกัน มีการเดินทางระหว่างโรงงานที่ 1 กับที่ 2 จนเกิดการแพร่เชื้อ หรืออาจจะเป็นคนที่ดูแลคนงาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีหน้าที่ในการพาคนงาน อาจจะนำส่งจากโรงงานที่ 1 ไปโรงงานที่ 2 ซึ่งคงจะต้องกลับไปดูมาตรการต่างๆ

รวมทั้งอาจจะต้องมีการกระชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหามาตรการที่จะทำให้โรงงานมีความปลอดภัย และนำไปสู่สินค้าปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวในตอนท้าย