หญิงเสียชีวิตหลังฉีด “ซิโนแวค” พบลิ่มเลือดอุดตันปอด สธ. แจงแล้ว

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีพบหญิงวัย 32 จ.สงขลา พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด และเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนซิโนแวค 13 วัน ยันฉีดให้คนไทย 2 ล้านโดส ไม่เคยเกิดกรณีดังกล่าวหลังรับวัคซีน

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หญิงวัย 32 ปี ชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เสียชีวิตลง และพบว่าก่อนหน้านี้ 13 วัน (14 พ.ค.) เพิ่งได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ “ซิโนแวค” อีกทั้งแพทย์ยังได้วินิจฉัยว่า มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด และอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค ทำให้ประชาชนอาจเกิดข้อสงสัยถึงความปลอดภัยของวัคซีน

ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เผยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำ และหลุดไปอุดที่หลอดเลือดที่ปอด เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน และทำให้มีอัตราป่วยตายสูงได้ถึงร้อยละ 30

จากฐานข้อมูล สธ. ที่เก็บข้อมูลผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอด ระหว่างปี 2559-2563 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวประมาณปีละ 12,900-26,800 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยประมาณ 200-400 รายต่อประชาการหนึ่งล้านคน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ คือ พันธุกรรม ภาวะโรคมะเร็ง การไม่เคลื่อนที่เป็นเวลานาน ๆ การกินยาคุมกำเนิด หรือการได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนใด ๆ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 พบว่า มีรายงานพบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั่วโลกทั้งสิ้น 4,575 ราย จากการฉีดกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเกิดโรคนี้เพียง 2.5 รายต่อประชากรล้านคนที่ได้รับวัคซีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่ำกว่าอัตราการเกิดในผู้ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก ่และที่สำคัญสำหรับวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค นั้น มีรายงานพบ 7 ราย จากการฉีดไปมากกว่า 200 ล้านโดส และไม่พบสัญญาณที่บ่งชี้ได้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดสูงขึ้นหรือวัคซีนเป็นสาเหตุโดยตรง

นอกจากนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค มากกว่า 2 ล้านโดสในคนไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนดังกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนของ ซิโนแวค ต่อไปได้ และผู้มารับบริการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่า เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ให้เฝ้าดูอาการหลังฉีดอย่างใกล้ชิด และหากมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าจะมีภาวะนี้หรือไม่ เช่น อาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดบวมขา ให้ปรึกษาแพทย์โดยเร็ว