เปิดแผนกระจายวัคซีน-สูตรการฉีด 10 ล้านโดส เดือนสิงหาคม

ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

เปิดข้อเสนอแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด-สูตรฉีดวัคซีน 10 ล้านโดส ทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค เดือนสิงหาคม 2564 ใน 3 กลุ่มจังหวัด

วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมี พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม

ในวาระที่ 6 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของการประชุม เป็นเรื่องข้อเสนอแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด19 เดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งแพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้แทนกรมควบคุมโรค เสนอแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด19 เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส ในเดือนสิงหาคม 2564 และพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เป็นเป้าหมายหลัก เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งเป็นแบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่

  1. จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 13 จังหวัด
  2. จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด และแผนเปิดการท่องเที่ยวระยะถัดไป ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว บุรีรัมย์ ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงันเกาะเต่า) ตรัง พังงา และกระบี่ รวม 15 จังหวัด
  3. จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย รวม 49 จังหวัด

(ร่าง) เกณฑ์การจัดสรรควัคซีนโควิด19 เดือนสิงหาคม มีดังนี้

1.จำนวนประชากรที่นำมาคำนวณมาจากฐานข้อมูลประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝง

1.1 จำนวนประชากรจากทะเบียนบ้าน ใช้ฐานข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2564

1.2 จำนวนประชากรแฝง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562

2.มีเป้าหมายฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝงทุกกลุ่มอายุในแต่ละจังหวัด ทั้งผู้มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ภายในปี 2564

3.ประเภทการจัดสรรเป็นไปตามมติ ศบค. วันที่ 19 มิถุนายน 2564 แบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ตามที่เสนอ โดยเกณฑ์การจัดสรรจะพิจารณาจากปัจจัย ดังนี้

3.1 ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

3.2 การให้วัคซีนเพื่อป้องกันเชิงรุก ในพื้นที่ระบาดใหม่

3.3 โควตาประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน (กทม. และ 12 จังหวัด)

3.4 จำนวนประชากรแต่ละจังหวัด

4.เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยมีหลักการดังต่อไปนี้

4.1 จัดลำดับความสำคัญ เร่งฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และเพิ่มกลุ่ม อสม (บุคลากรด่านหน้า)

4.2 เป้าหมายการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุในเดือนสิงหาคม ให้มีความครอบคลุม ดังนี้

– จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับความควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (13 จังหวัด)

– กรุงเทพมหานคร เป้าหมายร้อยละ 80

– จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอื่น 12 จังหวัด เป้าหมายร้อยละ 70

– จังหวัดอื่น ๆ 64 จังหวัด เป้าหมายร้อยละ 50

5.กรณีจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า 10 ล้านโดส จำนวนที่จัดสรรจะลดลงตามสัดส่วนวัคซีนที่จัดหาได้

(ร่าง) เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนโควิด19 เดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 10 ล้านโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 6 ล้านโดส และซิโนแวค 4 ล้านโดส) ได้แบ่งประเภทการจัดสรรของแต่ละจังหวัด (ปรับสัดส่วนตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับมอบ) ดังนี้

1.จัดหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จำนวน 13 จังหวด (ตามความรุนแรงการระบาด)

  • กทม. คิดเป็นร้อยละ 10 (จำนวน 1 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ
  • นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 20 (จำนวน 2 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด AZ-AZ

2.จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ มีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด และแผนเปิดการท่องเที่ยวระยะถัดไป จำนวน 15 จังหวัด (ตามจำนวนประชากร) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว บุรีรัมย์ ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ตรัง พังงา และกระบี่ คิดเป็นร้อยละ 10 (จำนวน 1 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ

3.จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย จำนวน 49 จังหวัด (ตามจำนวนประชากร) คิดเป็นร้อยละ 42 (จำนวน 4.2 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ

4.สำนักงานประกันสังคม (กลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา คิดเป็นร้อยละ 8 (จำนวน 0.8 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ, AZ-AZ

5.อื่นๆ ได้แก่ องค์กรภาครัฐ ราชทัณฑ์ หน่วยฉีดส่วนกลาง สธ. และควบคุมการระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ตามสถานการณ์ คิดเป็นร้อยละ 5 (จำนวน 0.5 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ

6.สำรองแอสตร้าเซนเนก้าไว้ สำหรับเป็นเข็มที่สอง คิดเป็นร้อยละ 5 (จำนวน 0.5 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ

ประเด็นเพื่อพิจารณา

  • เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส ในเดือนสิงหาคม 2564 ตามเสนอ

ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เสนอว่า วัคซีน 1 ล้านโดสที่ให้กับ กทม. ขอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมด ซึ่งกรมควบคุมโรคจะนำเรียนผู้บริหารพิจารณา พร้อมกับขอให้สำนักอนามัย กทม. ตรวจสอบจำนวนประชากรเพื่อให้วัคซีนได้ตามเป้าหมาย 80%

ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบกรมควบคุมโรค จัดทำแผนการจัดสรรควัคซีนโควิด19 เสนอนายกรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป