ศิริราชเปิดรับอาสาสมัครฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ผ่านทาง “ผิวหนัง”

ฉีดวัคซีน ศิริราช

ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดรับอาสาสมัครร่วมโครงการศึกษาการตอบสนองภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 3 ผ่านทางผิวหนัง

วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย ศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เข้าในผิวหนัง

ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลศิริราช 4-5 ครั้ง พร้อมรับการฉีดัคซีนและตรวจเลือด 4-5 ครั้งเช่นกัน โดยทางโครงการจะมีค่าเดินทางให้กับอาสาสมัคร

สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มีอายุ 18 บริบูรณ์
  • เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็ม นาน 4-12 สัปดาห์
  • ไม่มีประวัติแพ้ยา หรือวัคซีน
  • ไม่เคยเป็นโรคโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูง
  • ไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์

ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ก่อนหน้านี้ (25 ส.ค.) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กแนะนำว่า ให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 3 ผ่านทางผิวหนังให้กับคนไทย สามารถช่วยยับยั้งสายพันธุ์เดลต้าได้

“ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ต้องประดิษฐ์ประดอยเล็กน้อย แต่ใช้วัคซีนน้อยลง 5 ถึง 10 เท่า นั่นคือ 1 ล้านโดส จะกลายเป็น 5 หรือ 10 ล้านโดส เป็นเทคนิคใช้กันมา 37 ปีแล้ว วัคซีนหมาบ้า ไข้เหลืองในแอฟริกา ไข้หวัดใหญ่ที่ปัจจุบันใช้กัน ซึ่งมีประสิทธิภาพเท่ากันในด้านกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และผลข้างเคียงน้อยกว่า”

“สำหรับกรณีวัคซีนโควิดเข็มหนึ่งและสองโมเดอร์นามีการศึกษาเข้าชั้นผิวหนังแล้ว ได้ผลเท่าฉีดเข้ากล้ามซิโนแวคเข้ากล้าม 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันขึ้นช้า แต่ตกเร็วจนไม่เหลือ”


“ดังนั้นเมื่อต่อด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่สามเข้าชั้นผิวหนัง พบว่ากระตุ้นภูมิได้สูงมากขึ้นไปอีก จากที่ไม่มีภูมิแล้ว ทั้งยับยั้งสายพันธุ์เดลต้าได้ และได้ผลเท่ากับฉีดเข้ากล้าม”