รองผู้ว่าฯเมืองคอนหวิดวางมวยกลุ่มชาวสวนยางหลังปะทะคารมเดือด ชาวบ้านอุทาน”นี่หรือขรก.รับใช้ปชช.?”

“รองผู้ว่าฯเมืองคอน” หวิดวางมวยกับแกนนำสาวสวนยางที่มายื่นหนังสือขอให้รัฐบาล ให้นายกฯใช้ ม.44 ปลดบอร์ดบริหาร กยท.หลังราคายาตกต่ำสุดขีด ท่ามกลางชาวสวนยางถึงกับอุทาน “นี่หรือข้าราชการผู้รับใช้ประชาชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (24 พ.ย.60) ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวสวนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน นำโดยนายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย นายทวีศักดิ์ เพิ่ม แกนนำชาวสวนยางรายย่อย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 สั่งให้บอร์ดบริหารการยางแห่งประเทศไทยพ้นจากหน้าที่ทั้งคณะ

นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ระบุถึงการมายื่นหนังสือในครั้งนี้ว่า เหตุผลโดยรวมคือการบริหารจัดการยางที่ล้มเหลวรวม 6 ประการ คือ 1.ราคายางแผ่นดิบจาก 80.29 บาท เหลือเพียง 44 บาท และทราบว่าในวันนี้เหลือเพียง 40 บาท 2.ประกาศปิดทำการตลาดกลางยางพาราไม่มีราคาอ้างอิง โดยไม่เคยปรากฏมาก่อน 3.ยกเลิกประมูลซ้ำๆ ติดต่อกันหลายครั้ง จนส่งผลต่อเสถียรภาพของราคายาง 4.ใช้พื้นที่ตลาดกลางเป็นโกดังเก็บยางจนเกษตรกรนำยางมาขายไม่ได้

5.ยางในโครงการที่คณะกรรมการชุดนี้บริหารจัดการมีสภาพเสื่อมเสียหาย และ 6.ปรับลดสวัสดิการของพนักงานชั้นผู้น้อย เอื้อประโยชน์เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กร ทั้งนี้จึงต้องการเรียกร้องหนายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 กับปลดบอร์ดบริหารยางชุดนี้ นอกจากนั้นยังได้ทวงถามกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ว่าการ กยท.ที่รับปากว่าผลสอบสวนจะออกมาภายใน 7 วัน แต่จนถึงวันนี้ 11 วันแล้ว ยังไม่สรุปผลได้

“สำหรับ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ดบริหารการยาง ทราบว่าในคณะกรรมการบริหารการยางกับผู้ว่าการฯนั้นเป็นญาติกันโดยส่วนตัวหรือไม่ ต้องสืบหาให้ได้ว่านี่คือผลประโยชน์ของเกษตรกร ประโยชน์ของชาติ อย่าปล่อยให้การยางแห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้ครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าท่านทราบดี ในขณะที่ชาวสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อนจนอยู่กันเกือบไม่ได้แล้ว หรือจะรอให้ชาวสวนยางลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง” นายมนัสกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายรายงานว่า ระหว่างที่แกนนำกำลังพูดคุยปราศรัยกับชาวสวนยางที่มาด้วยกันนั้น มีนายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงมารับหนังสือ ก่อนนายมนัสพยายามกล่าวถึงการเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าได้มีปากเสียงกันค่อนข้างรุนแรง ขณะที่นายทวีศักดิ์ เพิ่ม หนึ่งในแกนนำ พยายามอธิบายถึงความเดือดร้อนของชาวสวนยาง แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ยอมฟัง จนหวิดมีการวางมวยกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่มีปากเสียงกันมีคนเข้ามากันตัวนายทวีศักดิ์ หนึ่งในแกนนำ ออกไป ในขณะที่นายทวีศักดิ์พยายามที่จะเข้าไปเจรจากับรองผู้ว่าฯนครศรีธรรมราชอีกครั้ง แต่ปรากฏว่ารองผู้ว่าฯนครศรีธรรมราชไม่รับฟัง จนเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลาย แต่หลายฝ่ายได้มาช่วยห้ามปรามไว้ได้ทัน ท่ามกลางเสียงอุทานของชาวสวนยางว่า “นี่หรือข้าราชการผู้รับใช้ประชาชน แสดงท่าทางกับชาวบ้านอย่างนี้หรือ” ก่อนรองผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช จะรับหนังสือและระบุว่าจะทำตามหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง และตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้ายื่นคำรอง พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เพื่อขอให้พิจารณาและมีมาตรการให้ผู้ว่าการฯ และคณะกรรมการบริหารการยาง พ้นจากการปฏิบัหน้าที่ ด้วยเหตุที่ใช้ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับฯ บางฉบับ ที่ไม่น่าจะชอบ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการยาง กล่าวคือ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่พ่อค้าและกลุ่มคนบางกลุ่ม จนทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย ส่งผลกระทบต่อราคายาง สภาพคล่องของตลาดซื้อ-ขายยางภายในประเทศ ความเสียหายของคุณภาพในโครงการที่ซื้อมาด้วยเงินจากภาษี และยังส่งผลให้เกดิปัญหาในระยะยาว ต่อการดำรงอาชีพของเกษตรกรชาวสวนยาง จนเป็นที่มาของคำว่า “วิกฤตยาง” ดังจะเห็นได้จากราคายาง 80.29 บาท เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ลดลงมาเหลือ 44 บาท ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการผู้บริหารชุดนี้ได้ใช้โอกาสที่ราคายางตกต่ำจากการบริหารล้มเหลวของคณะตนเอง แล้วนำมาออกระเบียบในการใช้เงินภาษีต่อการนี้ ซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย แต่กลับเป็นผลตรงข้ามและยังได้สร้างปัญหาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย

ดังนั้นจึงกราบเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้โปรดสืบเสาะหาความจริงตามคำร้องนี้และพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้ผู้ว่าการฯ และคณะกรรมการบริหารการยางชุดนี้ พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่