กทม.ซ่อมโลคอลโรดชั่วคราว เตรียมหารือ ร.ฟ.ท. แก้ปัญหาถาวร

ซ่อมไปบ่นไป กทม.ซ่อมโลคอลโรดชั่วคราว เตรียมหารือ ร.ฟ.ท.แก้ปัญหาถาวร

วันที่ 14 มกราคม 2565 ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า ตามที่มีผู้ร้องเรียนกรณีถนนกำแพงเพชร 6 หรือถนนเลียบทางรถไฟ (โลคอลโรด) พื้นที่เขตดอนเมือง มีผิวจราจรชำรุดเสียหาย เป็นคลื่น ไม่เรียบเสมอกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ที่สัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าว

กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน และมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว โดยพยายามเข้าไปคลี่คลายปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้น ทั้งนี้ พบว่ายังมีอุปสรรคที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขเป็นการถาวรได้ ดังนี้

1.ปัจจุบันพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 อยู่ในกรรมสิทธิ์และความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ กทม.ให้สามารถเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมถนนแห่งนี้เป็นการถาวรได้

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้เคยมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาอนุญาตให้ กทม.ใช้สิทธิเหนือพื้นดินบริเวณดังกล่าว เพื่อนำพื้นที่ไปใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และอยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

แม้ว่า ร.ฟ.ท.จะมีหนังสือแจ้งส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟและอุโมงค์ถนนลอดทางรถไฟ ในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลรักษา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 แต่ กทม.ยังไม่ได้รับมอบถนนดังกล่าวจาก ร.ฟ.ท. เนื่องจากการสำรวจความพร้อมก่อนการส่งมอบเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 64 สำนักการโยธา กทม.พบว่ามีข้อบกพร่องหลายรายการ

อาทิ ไม่มีบันทึกข้อตกลงการส่งมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณถนนกำแพงเพชร 6, ผิวจราจรแอสฟัลต์ชำรุด ทรุดตัว แตกร้าว ไม่เรียบเสมอกับผิวจราจรข้างเคียง, คันหินและทางเท้าก่อสร้างไม่ตรงตามมาตรฐาน, บ่อพักระบบระบายน้ำและช่องรับน้ำบนทางเท้าสูงกว่าระดับผิวจราจร ไม่สามารถระบายน้ำได้, ไม่มีป้ายจราจรและระบบไฟฟ้าส่องสว่าง

โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องบริเวณดังกล่าวให้เรียบร้อยถูกต้องตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค จึงยืนยันได้ว่า กทม.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการปรับปรุงถนนดังกล่าวเป็นการถาวรได้

2.กทม.ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาถนนกำแพงเพชร 6 ชำรุดผ่านช่องทางต่าง ๆ สำนักการโยธาจึงเข้าดำเนินการตรวจสอบ สาเหตุที่ถนนกำแพงเพชร 6 ตั้งแต่แยกวัดเสมียนนารีถึงบริเวณแยกคลังน้ำมันใต้สถานีรถไฟสายสีแดง มีสภาพเป็นเนินลูกคลื่นตลอดแนว คาดว่ามาจากโครงการก่อสร้างดังกล่าวของ ร.ฟ.ท. ซึ่งจัดซ่อมผิวจราจรไม่ได้ระดับและไม่เรียบร้อย

รวมทั้งมีการสกัดเสาตอม่อโฮปเวลล์เดิมออกไม่หมดในแนวถนนที่ใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างช่องจราจรใหม่ ทำให้ถนนเกิดการทรุดตัว ไม่เท่ากัน (differential settlement) ส่งผลให้ผิวจราจรนูนเป็นคลื่น

3.เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว กทม.โดยสำนักการโยธาจึงได้เข้าซ่อมแซมเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นด้วยการปรับผิวจราจรจุดที่ชำรุดและเป็นหลุมเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน ซ่อมแซมแล้วรวม 3 จุด

ได้แก่ บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 25 ฝั่งขาออกหน้าโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ฯ และหน้าสำนักงานเขตดอนเมือง (จุดตัดระหว่างถนนเชิดวุฒากาศกับถนนกำแพงเพชร 6

ส่วนบริเวณที่ผิวจราจรชำรุดเป็นหลุมบ่อขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นคลื่น ไม่เรียบเสมอกัน กทม.ได้มีหนังสือประสานแจ้ง ร.ฟ.ท.ตรวจสอบและเร่งรัดดำเนินการซ่อมแซมไปเป็นระยะ

และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทางสำนักงานเขตดอนเมืองประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ร.ฟ.ท. สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และสำนักการโยธา มาร่วมกันแก้ไขปัญหาผิวจราจรถนนโลคอลโรดเป็นการถาวรต่อไป