สธ.เลิกแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อ อีก 4 เดือน โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

เครดิตภาพ : สำนักอนามัน กทม.

สาธารณสุข ตั้งเป้า 4 เดือน ทำโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คาดเผยรายละเอียดออกมาได้ในสัปดาห์หน้า ระบุที่ผ่านมาใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยโควิดเฉพาะคนไทยราว 1 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหน่วยงานภายในสำนักงานปลัด สธ. ถึงประเด็นที่ ครม.ให้กลับมาทบทวนการประกาศเกณฑ์ผู้ป่วยโควิด-19 วิกฤต ภายใต้สิทธิเจ็บป่วยวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ว่า สำหรับเรื่องยูเซป ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กำลังทบทวนเรื่องนี้

โดยอำนาจการประกาศกระทรวงเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ลงนามในประกาศแล้ว เพียงแต่ ครม.ขอให้ชะลอการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาออกไปก่อน

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า โดยหลักของการกำหนดเกณฑ์ผู้ป่วยโควิดวิกฤต (UCEP Covid-19) ตามเดิมที่เราให้ผู้ที่สงสัยติดเชื้อสามารถเข้าตรวจและรักษาที่สถานพยาบาลใดก็ได้ ทั้งรัฐและเอกชน เพราะช่วงที่โรคยังใหม่เราก็ยังไม่มีประสบการณ์ จึงต้องรับผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) เพราะเรายังไม่รู้ว่าผู้ติดเชื้อสีเขียว จะกลายเป็นสีเหลือง สีแดงอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยโควิดเฉพาะคนไทย ราว 1 แสนล้านบาท โดยอยู่ที่ภาครัฐ 7 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 74% อยู่ที่ภาคเอกชนอีก 2.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 26% เมื่อมาดูว่าในจำนวนดังกล่าว 88% เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว

นอกจากนี้ ยังมีค่ารักษาคนต่างด้าวอีก 4-5 พันล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการวัคซีนอีก 1 แสนล้านบาท ฉะนั้น ต้องใช้ความรู้ในการบริหารงบประมาณมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การที่ปรับให้มีการรักษาโควิดตามสิทธิ ก็ไม่กระทบต่อการรักษาของประชาชน เพียงแต่ว่าจะต้องไปตรวจรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน รพ.ที่ตนเองมีสิทธิสุขภาพนั้น ๆ เช่น ประกันสังคม บัตรทอง

หยุดรายงานยอดติดเชื้อ เน้นมอนิเตอร์ยอดผู้ป่วยสีเหลือง-แดง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น ว่า นับจากนี้อาจจะไม่มีการรายงานผลติดเชื้อแล้ว แต่จะเน้นการติดตามและการรายงานผลผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง เพื่อเน้นแนวทางการควบคุมการระบาดและการรักษา

ขณะนี้ตัวเลขของการเข้าอยู่ในระบบรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) ประมาณ 60% ซึ่งมากกว่าผู้ที่อยู่ใน รพ.แล้ว แต่เราอยากให้ถึง 90% เพื่อสอดคล้องกับสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เนื่องจาก รพ.ยังต้องเอาไว้ดูแลผู้ป่วยโรคอื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อโควิดที่อาการไม่รุนแรง แต่มีโรคร่วมประมาณ 10% ต้องเข้า รพ. เราจึงต้องมีเตียงทรัพยากรให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ

“ตัวเลขมันเชยแล้ว การถามตัวเลขการระบาดมันไม่มีประโยชน์อะไร ที่เราถามตัวเลข เพราะกลัวว่าเราจะรักษาไม่ไหว แต่ตอนนี้คนที่เรารักษา มันไหว คนติดเชื้อก็ติดไป ก็ได้รับการดูแลทุกคนอยู่แล้ว”

“ตอนนี้ เราจึงมาดูว่าเราจะรักษาคนไข้ที่ขณะนี้มี 700 กว่าคน กับที่ใส่ท่อหายใจอีก 200 กว่าคน ก็ประมาณ 1,000 คน เราโฟกัสตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพ ให้ดูแลพวกเขาให้ดี จะมีเคสเท่าไร เราก็ไม่ได้กลัวเคสนะ เราหลงไป ตอนนี้เราเข้ามาสู่โอมิครอนแล้ว”

“ที่ผ่านมา เรารายงาน (ยอดผู้ติดเชื้อ) เพราะเรากลัวระบาด แต่หลังจากนี้ เราจะรายงานจังหวัดที่มีการระบาดสูง พื้นที่ กิจกรรมกิจการการระบาด ให้รายงานเข้ามา เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า ที่นี่ อย่าไป อันนี้ก็เป็นประโยชน์แล้ว” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

สำหรับเรื่องการออกจากโรคระบาด (pandemic) เป็นโรคประจำถิ่นโคโรนาไวรัส 2019 (Endemic) เราวางแผนไว้ 4 เดือน ซึ่งจะมีรายละเอียดออกมาในสัปดาห์หน้าว่าการที่จะออกจากโรคระบาด จะมีขั้นตอนอย่างไร แต่หลักสำคัญคือจะไม่มีการระบาดใหญ่แล้ว ซึ่งตนได้รับข้อมูลยืนยันจากแพทย์โรคติดเชื้อว่า โดยสภาพของการติดเชื้อ ความรุนแรงลดลง แต่การระบาดจะมากขึ้น เพราะเป็นโรคทั่วไปแต่ไม่อันตราย ซึ่งเป็นลักษณะของโรคติดต่อ

“เพียงแต่การติดเชื้อมาก ก็อาจจะมีอัตราผู้ที่ปอดอักเสบมากขึ้น แต่โดยสัดส่วนผู้เสียชีวิตจะลดลง จะเห็นจากตัวเลขป่วยตายลดลง แต่จะเห็นจากผู้เสียชีวิตวันนี้ 100% เป็นกลุ่ม 608 ดังนั้นโรคนี้น่าเป็นห่วงกับคนกลุ่มนี้ เพราะโรคเล่นงานคนสูงอายุ โรคเรื้อรัง” นพ.เกียรติภูมิกล่าว