ศักดิ์สยาม ฉลองคมนาคมครบ 110 ปี สานต่อลงทุนบก-ราง-น้ำ-อากาศ บูม EEC

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ศักดิ์สยาม ฉลองคมนาคมสถาปนา 110 ปี เดินหน้า 10 โครงการลงทุนระยะยาว ครอบคลุมบก-ราง-น้ำ-อากาศ เชื่อมโครงข่ายขนส่งทั่วประเทศ พร้อมศึกษาโปรเจ็กต์สำคัญ ทั้ง MR-MAP-แลนด์บริดจ์-รถไฟไทย-จีน

วันที่ 1 เมษายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เข้าสู่ปีที่ 110 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป้าหมายหลักองค์กรคือการพัฒนาระบบการขนส่งและคมนาคมให้ครอบคลุมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ รวมไปถึงเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าไว้ด้วยกัน

โดยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมกว่า 10 โครงการ ที่เป็นแผนระยะกลางและแผนระยะยาว ดังนี้

การคมนาคมขนส่งทางบก

1.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สายทาง คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)

2.โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก

3.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ยกระดับ) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย และช่วงที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว

4.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สายทาง คือ M5 ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง และ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา

ตลอดจนเปิดใช้ระบบผ่านทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนท้องถนน

การคมนาคมขนส่งทางราง

1.การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะมีระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร

2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการขนส่งระบบรถไฟทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง

3.โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค

โดยเร่งดำเนินการ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย

4.โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

การคมนาคมขนส่งทางน้ำ

โครงการท่าเรือบก (Dry Port) จะเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งต่อไปทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา

โดยตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกได้กำหนดพื้นที่ไว้ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา

การคมนาคมขนส่งทางอากาศ

ด้วยประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก กระทรวงคมนาคมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ

โดยมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา

เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมเดินหน้าโครงการที่สำคัญ เช่น การศึกษาจัดทำแผนแม่บท MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 10 เส้นทางทั่วประเทศ

และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ เป็นการพัฒนาท่าเรือเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน

พร้อมกับบูรณาการการขนส่งทางถนน ทางท่อ และทางราง เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเพื่อเปิดประตูการค้าและเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย ไปยังประเทศในฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการพัฒนา การลงทุนโครงการ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม