240 ปีรัตนโกสินทร์ น้อมรำลึกรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ วัดสระเกศ

วัดสระเกศ
ภาพ : วิกิพีเดีย

ครบรอบ 240 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ รัฐบาลจัดพิธีใหญ่ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

วันที่ 21 เมษายน ของทุกปี เป็นวันน้อมรำลึก วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา ซึ่งได้จารึกติดอยู่ที่เสาหลักเมืองว่า “วันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 เวลาย่ำรุ่ง 54 นาที”

ในปี 2565 รัฐบาลจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2565 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ และบริเวณพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์

โดยพื้นที่หลักของการจัดพระราชพิธีคือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือเดิมชื่อวัดสะแก เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา จัดเป็นวัดอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นวัดที่มีความวิจิตรงดงามแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ มีพระเจดีย์สีทองสูงเด่นเป็นสง่าเหลืองอร่าม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” แปลว่า ชำระพระเกศา สืบเนื่องเมื่อทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ)

ครั้งเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรีและเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2325 อดีตกล่าวกันว่าช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดหนักในกรุงเทพมหานคร ทรงโปรดให้จัดพิธีขับไล่โรคขึ้น เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องจากยังไม่มียารักษาและวิธีป้องกัน ชาวบ้านล้มตายหลายหมื่นคน มีแร้งจำนวนมากลงมากัดทึ้งกิน จนให้มีคำพูดติดปากกันว่า “แร้งวัดสระเกศ”

วัดภูเขาทอง เป็นชื่อที่นิยมเรียกวัดสระเกศ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยมีพระเจดีย์ “ภูเขาทอง” หรือ “บรมบรรพต” สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อันได้รับจากประเทศอินเดียซึ่งขุดจากเนินพระเจดีย์เก่าในเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นปูชนียสถานและสัญลักษณ์อยู่คู่วัดสระเกศ อีกทั้งยังถือเป็นสะดือเมือง ในทุก ๆ ปี ช่วงเทศกาลลอยกระทง จะมีงานเฉลิมฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน กลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์และเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง

หนังสือ จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ ของกรมศิลปากร บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่าภูเขาทอง วัดสระเกศ เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมจะสร้างเป็นรูปพระปรางค์ แล้วค้างคามาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนเป็นแบบภูเขา มีเจดีย์ก่อไว้บนยอด เริ่มวางศิลาฤกษ์ใน พ.ศ. 2408 พระราชทานนามว่า “บรมบรรพต”

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2421 อัญเชิญของเดิมจากในพระบรมมหาราชวังมา (เริ่มมีงานประจำปี เป็นงานใหญ่ช่วงลอยกระทง-เอนก) ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2441 ได้จากอินเดีย

พ.ศ. 2509 กระทรวงมหาดไทยบุกระเบื้องโมเสกสีทองที่องค์พระเจดีย์ และสร้างเจดีย์เล็กรายรอบอีก 4 องค์ ดังเห็นมาจนถึงทุกวันนี้

7 จุดที่สำคัญในวัดสระเกศ ที่ประชาชนเข้าสักการะ ประกอบด้วย

  • พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ชั้นบนสุดของภูเขาทอง
  • พระอัฏฐารส พระนามเต็มว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร อายุ 700 ปี ที่มีความสำคัญองค์หนึ่งในกรุงเทพมหานครและมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
  • หลวงพ่อพระประธาน มีความเด่นด้านเมตตาบารมี กราบไหว้ขอพรควรนั่งสมาธิควบคู่ จะให้พบทางออกของปัญหาที่เรากำลังเผชิญ
  • หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปที่คู่กับบรมบรรพต (ภูเขาทอง) มาตั้งแต่ต้น
  • หลวงพ่อโชคดี ผู้ใดได้สักการบูชา ย่อมประสบในสิ่งที่ใจปรารถนาทุกประการ
  • หลวงพ่อดวงดี มีคติในการสักการะว่า ผู้ใด ได้บูชาสักการะจะมีดวงชะตาที่ดี เป็นที่รักของมิตรสหาย ปลอดภัยจากอุปสรรคนานาประการ และ
  • ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อายุกว่า 200 ปี เป็นหน่อจากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นับเป็นรุ่นที่ 3