ราชวิถี เพิ่มเตียงโควิดอาการหนัก 20% ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 608

เพิ่มเตียง

โรงพยาบาลราชวิถึเพิ่มเตียง ผู้ป่วยโควิดอาการหนัก 20% ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 608 พบผลของการศึกษาทดลองพบว่า BA.4 และ BA.5 เชื้อไปที่เซลล์ปอดมากขึ้น

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ว่า ขณะนี้ในกรุงเทพมหานคร จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้น

จากการรายงานของโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี พบว่า อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยที่ครองเตียงอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่ม 608

“กรมการแพทย์ได้สั่งการ รพ.ในสังกัดทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยอาการรุนแรง ปอดอักเสบ ให้ส่งตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทันที เพื่อประเมินสถานการณ์เชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่ง รพ.ราชวิถี ได้ทยอยส่งตัวอย่างเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไปตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 ที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ รพ.จะต้องเตรียมตัวรองรับผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องมีการขยายหอผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม เนื่องจากทางการแพทย์จะต้องเตรียมสำหรับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้เสมอ สำหรับเตียงในส่วนภูมิภาค ผู้ตรวจราชการ สธ.ในแต่ละเขตสุขภาพ ก็ประเมินสถานการณ์และเตรียมการรองรับไว้เช่นกัน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยนั้น จะปรับไปเรื่อยๆ ช่วงแรกในปี 2563 ผู้ป่วยเข้า รพ.ทั้งหมด แต่ระยะที่พบผู้ป่วยหลักแสนราย ก็ใช้ระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ต่อมา ก็เปลี่ยนเป็นรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) เจอแจกจบ ฉะนั้น สำหรับระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post pandemic)

“เราต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่เพิ่มขึ้นเร็ว ไม่รุนแรง และต้องยอมรับว่าเรายังรู้จักโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ไม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ ได้ทำหนังสือสั่งการให้ทุกคนยังคงสวมหน้ากากในสถานพยาบาลทุกแห่ง พร้อมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ในบุคลากรการแพทย์ รวมถึงประชาชนที่มารับบริการด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยหลังการระบาดใหญ่ จะมีการขยายไปในคลินิกโรคไข้หวัดทั่วไปหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เตรียมระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งระบบรักษาที่บ้าน (HI) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่าจะให้บริการถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

และจะใช้ระบบเจอแจกจบแทน แต่เท่าที่ทราบว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะมีการขยายให้บริการ HI ต่อออกไปอีก ซึ่งทั้งหมดนี้จะปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะผลของการศึกษาทดลองพบว่า BA.4 และ BA.5 เชื้อไปที่เซลล์ปอดมากขึ้น แต่ข้อมูลในโลกจริงยังไม่มีระบุถึงความรุนแรงที่มากขึ้น

ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า อัตราครองเตียง รพ.ราชวิถี มีเตียงผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองถึงแดงเกือบ 100 เตียง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ลดเตียงลงเหลือ 60 เตียง แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ป่วยเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น อัตราครองเตียง ร้อยละ 40 ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70-80

ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่เข้ามารักษา ผ่าระบบเจอแจกจบ และ HI เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมวันละ 100 ราย เป็น 220 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผู้ป่วยเพิ่มแต่ทาง รพ.ยังดูแลได้ แต่ก็ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนอย่างประมาท โดยเฉพาะมาตรการป้องกันตนเองสูงขึ้น สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น