ศบค.ยันตามติดโควิดกลายพันธุ์ – จับตา ศบค.ชุดใหญ่ถก 8 ก.ค.

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค.ชุดเล็กกังวลผู้ป่วยหนักจากปอดอักเสบหลังมีทิศทางเพิ่มขึ้นจาการเปิดสถานบันเทิง ผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย ขอความร่วมมือไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่ม ระบุมีแค่ 4 จังหวัดเท่านั้นที่ได้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% ยันติดตามโควิดกลายพันธุ์ BA.4 และ BA.5  ใกล้ชิด เปิดทางองค์กร สถานประกอบการสั่งให้พนักงาน ผู้ใช้บริการสวมแมสก์ได้  ขณะที่ ศบค.ชุดใหญ่นัดถก 8 ก.ค.

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า จากการประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันนี้ ปัจจุบันจากการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้ที่เข้าสู่ระบบการรักษา เพราะเป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน จากการที่โควิดจะพ้นของการเป็นโรคระบาดทั่วโลก

สำหรับวันนี้บ้านเรายังมีการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่จากการตรวจด้วยระบบ PCR จำนวน 2,695 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิต 14 ราย ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีอาการรุนแรงวันนี้ตัวเลขสูงขึ้นไปอยู่ที่ 684 ราย สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน และมีผู้ที่ใช้ท่อช่วยหายใจ 292 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจากเดิมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เส้นกราฟยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก

ผู้ป่วยรายวัน ป่วยหนัก เสียชีวิตจากโควิด ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า ที่กราฟกระดกขึ้นซึ่ง ศบค.ชุดเล็กเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีทิศทางที่สูงขึ้น แต่ยังเป็นไปตามการคาดการณ์ เพราะจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีการปลดล็อกการสวมหน้ากากให้มีการผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปิดให้บริการสถานบันเทิงใน 31 จังหวัด ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการคาดการณ์สถานการณ์ว่าอาจจะมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่เข้ารับการรักษาในระบบเพิ่มขึ้นได้ แต่ว่าตัวเลขที่สำคัญที่ทางศบค.ชุดเล็กให้ควาสำคัญอย่างยิ่งคือจะต้องให้อยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นอัตราการครองเตียง ศักยภาพของบุคลากรในแต่ละพื้นที่สามารถรองรับได้

“ปัจจุบันอัตราการครองเตียงระดับ2-3 ที่รายงานในที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กวันนี้อยู่ที่ 9.9 % ซึ่งก็จะมีเฉพาะบางจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น สมุทรปราการอัตราการครองเตียงในระดับ 2-3 สูงเกิน 20 % แต่ยังไม่เกิน 25% ที่สาธารณสุขคาดการณ์ไว้ ” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 30 มิ.ย.2565

ส่วนการเข้ารับการรักษาพยาบาลของพี่น้องประชาชน ในส่วนของการรักษาใน รพ.สนามหรือศูนย์กักกันในชุมชนซึ่งเราใช้ค่อนข้างเยอะก่อนหน้านี้ ปัจจุบันสัดส่วนลดลงอย่างมาก แต่พี่น้องประชาชนที่ขอรับการักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPHI คือเมื่อตรวจ ATK แล้วมีผลตรวจยืนยัน 2 ขีด คือติดเชื้อ ผู้ป่วยก็จะไปติดต่อรับการรักษาใน รพ.ใกล้บ้าน หรือคลินิกใกล้บ้าน เพื่อรับการจ่ายยาแล้วกลับไปดูแลแยกตัวเองที่บ้าน

“เป็นการรักษาที่สาธารณสุขก็มอนิเตอร์ตัวเองแบบรายวัน จึงทำให้ตอนนี้มีการรักษาในโรงพยาบาลในสัดส่วนที่น้อยลง community isolation หรือ รพ.สนามก็ลดลงตามลำดับด้วย”

ผู้เสียชีวิตจากโควิด ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ศบค.ชุดเล็กให้ความสำคัญอย่างยิ่งในวันนี้คือ อัตราการเสียชีวิตที่รายงานวันนี้ 14 ราย พบว่า 100% ทั้งหมดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คืออายุเกิน 60 ปีและมีโรคประจำตัว และในจำนวนนี้ 6 ราย คิดเป็น 43% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มที่ 1 อีก 6 รายได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว แต่เป็นระยะเวลาเกิน 3 เดือน

“นั่นหมายความว่าผู้เสียชีวิตในวันนี้ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ศบค.ชุดเล็กย้ำในวันนี้เพื่อที่จะช่วยกันกระตุ้นให้พี่น้องประชาชน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลยขอให้มารับบริการฉีดวัคซีน เข็ม 1” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

รายงานผู้สูงอายุที่มารับการฉีดวัคซีน

แม้ว่าจะมีการกระเพื่อมอย่างช้ามาก แต่ยังเป็นไปได้ ใครที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ตอนนี้ยังเข้ามารับได้ โดยวานนี้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปประมาณ 7,000 ราย ซึ่งก็ขอให้มากขึ้นทุกวัน ส่วนเข็มกระตุ้นในกลุ่มที่อายุ 60 ปี ตอนนี้ได้รับเข็ม 1 ไปแล้ว 84% ถือได้ว่าเป็นไปตามแผน เข็ม 2 อยู่ที่ 80.5% ก็ยังเป็นไปตามคาดหมาย แต่เข็ม 3 ยังถือได้ว่ายังไม่เข้าเป้าหมาย ตัวเลขอยู่ที่ 46.5%

“คงต้องเชิญชวนผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว หรือกลุ่ม 608 มารับเข็มกระตุ้นด้วย เช่นเดียวกับภาพรวมของประเทศที่เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นฉีดได้เพียง 42.6% จำเป็นต้องเข้ามารับการฉีดให้เพิ่มขึ้น เพราะจะช่วยให้ไม่มีอาการป่วยรุนแรง ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตลงด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

ยอดสะสมการฉีดวัคซีนภาพรวมของประเทศ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2565

ตอนนี้เป้าหมายอยู่ที่ 60% ที่จะต้องให้เข็มกระตุ้นประชาชนทั้งหมด ซึ่งมีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต คงต้องขอให้แต่ละจังหวัดช่วยกันรณรงค์เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ส่วนมาตรการถอดหน้ากากอนามัยที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมาก่อนหน้านี้ แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กไ ด้มีการติดตามมาตรการนี้เช่นกัน และผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวยังคงต้องขอความร่วมมือให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และการผ่อนคลายเป็นไปโดยความสมัครใจในข้อจำกัดพื้นฐานที่ถือว่าความเสี่ยงยังคงมีอยู่ แต่เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และต้องขอเน้นย้ำให้ประชาชนยังคงมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด ทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือตลอดเวลา

และแม้จะมีมาตรการผ่อนคลายการสวมหน้ากากที่ผ่อนคลายมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามประกาศของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะในการประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกันได้ เช่นเดียวกับองค์กร หน่วยงาน สถานประกอบการ หากท่านมีการทบทวนหรือต้องการกำหนดให้พนักงาน หรือผู้เข้ารับการบริการ คงการสวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ก็สามารถทำได้ กล่าวคือสามารถปรับมาตรการให้เข้มงวดขึ้นได้ ตามสถานการณ์ในพื้นที่

มาตรการสวมหน้ากากอนามัย

“ส่วนการประชุมของ ศบค.ชุดใหญ่จะมีการประชุมในวันที่ 8 กรกฎาคม คงจะมีการนำเสนอมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งทบทวนมาตรการที่ได้ประกาศออกไปแล้ว จะมีการปรับขึ้นลงอย่างไร ขอให้พี่น้องประชาชนติดตาม แต่ขอเน้นย้ำว่าจำเป็นจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงที่กรมอนามัยประกาศไว้ด้วย ”

ต่อข้อถามที่ว่าหลายคนมีความกังวลต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 BA.5 ขณะนี้มีความกังวลแค่ไหน แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้ สายพันธุ์ BA.4 และBA.5 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีการรายงานว่าผู้ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มีการพบในคนไทยบ้าง แต่ว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก และสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันยังเป็นโอมิครอนเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้จากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าปัจจุบันในการรายงานติดตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในต่างประเทศยังไม่พบว่ามีความรุนแรงเทียบเท่ากับเดลต้า และยังเร็วเกินไปที่จะสรุป และอยากจะเน้นย้ำว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง ศบค.ชุดเล็กก็จะมีการติดตามการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

“ในเบื้องต้นยังไม่มีการปรับมาตรการที่แตกต่างจากการสรุปของ ศบค.ชุดใหญ่ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านา และหากมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรคงจะต้องมีการนำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวในตอนท้าย