สธ.ชี้ยอดติดเชื้อโควิดจริง สูงกว่ารายงาน เชื่อเหมือนกันทั้งโลก

สถานการณ์โควิด

สธ.ชี้ยอดโควิดจริง สูงกว่ารายงาน เชื่อเหมือนกันทั้งโลก บางคนระบุอาจมากกว่ารายงาน 7-8 เท่า แต่สำคัญที่คุมสถานการณ์ได้หรือไม่ แจงผู้เสียชีวิตโควิด ใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่แล้ว

เมื่อวันที่  29 มิถุนายน 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีผู้ระบุว่าสถานการณ์โควิดในไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อจริงสูงกว่ารายงาน 10 เท่า ว่า ข้อมูลทั่วโลกที่รายงานผู้ติดเชื้อยืนยัน 550 ล้านคน แต่ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริง มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขอาจจะมากกว่านี้ 4-5 เท่า หรือบางคนบอกว่าเยอะกว่านี้ บอกถึงขนาดว่าอาจจะมากกว่ารายงาน 7-8 เท่า

นพ.โอภาส กล่าวว่า การประมาณการณ์ว่าติดเชื้อจริงมากกว่ากี่เท่าไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งที่เราสนใจคือ สถานการณ์ควบคุมได้หรือไม่ จะเข้าสู่ช่วงหลังการระบาด Post-Pandemic หรือเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” การระบาดมากขึ้นหรือลดลง, การดูจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ จะสะท้อนผู้ติดเชื้อในภาพรวมและระบบสาธารณสุขว่ารองรับได้หรือไม่

“ขณะนี้วิเคราะห์ข้อมูลอัตราป่วยตาย โควิดอยู่ที่ 0.07% ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ อัตราตายอยู่ที่ 0.1% แต่คิดว่าโควิดอัตราตายน่าจะต่ำกว่านี้ เพราะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย ถ้าดูสถานการณ์ตอนนี้ ความรุนแรงของโรคก็น้อยกว่าหลายโรคแล้ว แม้แนวโน้มการติดเชื้อทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น แต่ไม่เร็วมากนักเหมือนกับช่วง ‘เดลต้า’ หรือ ‘โอมิครอน’ ใหม่ ๆ เพราะสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปก็มีการผ่อนคลายมาตรการ ไม่ได้ใส่หน้ากาก แต่ในคนไทยเรายังใส่อยู่เมื่ออยู่ในที่ชุมชนคนจำนวนมาก และเรายังรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่ง 2 มาตรการนี้จะเป็นเรื่องสำคัญในการควบคุมสถานการณ์หลังผ่านระยะ Post-Pandemic”

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่มีการตื่นตระหนกเมื่อมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาจุดสมดุลของฐานต่ำสุด เทียบกับช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 300-400 รายต่อวัน ปอดอักเสบ 800-900 รายต่อวัน เสียชีวิต 20-30 ราย ต่อวัน หากตัวเลขอยู่ระดับนี้ แลกกับการที่เราสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ คิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะพอยอมรับได้ แต่เราพยายามจะดูแลให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตให้น้อยที่สุด

นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า คำแนะนำประชาชนในการปฏิบัติตัวหลังพ้นการระบาดใหญ่ คือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เนื่องจากในจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน ส่วนใหญ่ยังเป็นคนกลุ่มนี้ คนทั่วไปยังแนะนำทุก 4 เดือน ยกเว้นว่าจะมีการศึกษาและมีคำแนะนำออกมาเพิ่มเติม

“ที่คนกังวลว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ได้นั้น วัคซีนทุกตัวแม้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แต่ประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตนั้นไม่ได้ลดลง จึงขอเชิญชวนให้ไปฉีด”

ที่สำคัญเช่นเดียวกับวัคซีน คือ การสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งถือว่ายังมีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่รวมกับคนหมู่มาก