จับตาโอมิครอนกลายพันธุ์ใหม่ คาดระบาดในไทย-ทั่วโลก แต่อย่ากังวล

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

กรมวิทย์ตั้งโต๊ะแถลง หลังพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กลายพันธุ์ ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในไทย 181 ตัวอย่าง งานวิจัยชี้เป็นอันตรายต่อปอด คาดกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดไปทั่วโลกรวมไทย ชี้เรื่องความรุนแรงยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ต้องจับตาดูต่อไป ขออย่ากังวล เฝ้าระวังเต็มที่

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข  ร่วมแถลงข่าวเรื่องการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ หลังมีการตรวจพบว่าไวรัสโอมิครอนมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 และพบผู้ติดเชื้อในไทยจากข้อมูล ณ วันที่ 23 มิ.ย. 2565 จำนวน 81 ราย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทยืแถลงข่าวเรื่องการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทยืแถลงข่าวเรื่องการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ที่โลกมีการระบาดโควิด-19 กว่า 2 ปีเศษ ขณะนี้มีสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (Variant of Concern: VOC) เหลือเพียงสายพันธุ์เดียวคือ โอมิครอน ที่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแทบไม่มีสายพันธุ์อื่นไม่ว่าจะเป็นเบต้า แอลฟาหรือเดลต้า แล้ว

“ประเด็นก็คือโอมิครอนก็ยังไม่ได้แตกรูปแบบจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือกลายเป็นตัวใหม่ ยังเป็นโอมิครอนอยู่ แต่ประเด็นของมันคือมันมีการกลายพันธุ์ในลูกหลานของโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ”

อนามัยโลกสั่งจับตา 5-6 สายพันธุ์ย่อย

องค์การอนามัยโลกจัดกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาว่าเป็น VOC lineages under monitoring หรือ VOC-LUM หรือเรียกว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย ขณะนี้มีอยู่ 5-6 สายพันธุ์ที่ต้องจับตา ติดตาม เช่น BA.2.12.1 , BA.2.9.1 , BA.2.11 , BA.2.13 ซึ่ง BA.4 BA.5 ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งพวกนี้อาจมีการแพร่บางส่วนเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ หรือคนไข้สามารถติดเชื้อได้แม้ว่าจะเคยฉีดวัคซีน หรือเคยมีภูมิมาก่อนแต่ก็ยังติดเชื้อได้

ทั้งนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ที่มีเป็นข่าวในสหรัฐอเมริกา ว่าขณะนี้ก็เริ่มลดลง ซึ่งประเทศไทยก็พบประปราย

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาว่าเป็น VOC lineages under monitoring หรือ VOC-LUM หรือเรียกว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับ BA.4 และ BA.5 พบว่า มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งยีนส์ที่ L452R ที่เราต้องติดตาม(สีม่วงเข้ม) เพราะมันไปกลายพันธุ์ในจุดที่ตำแหน่ง L452R ที่เป็นจุดกลายพันธุ์ในลักษณะเดียวกันกับสายพันธุ์เดลต้าที่เคยเป็นมาก่อน และมีงานวิจัยว่าพอมันกลายพันธุ์ตรงนี้ จะทำให้เซลส์ปอดเชื่อมกัน ด็จะเกิดปัญหา และมีความอันตรายหรืออักเสบต่อปอดมากขึ้น

“เลยเป็นที่วิตกกังวลว่า ถ้ามันกลายพันธุ์ โอมิครอน ทุกคนรู้ว่ามันแพร่เร็ว และถ้าเกิดมันรุนแรงพอๆกับเดลต้า น่าจะยุ่งนะ อันนี้คือการสันนิษฐานเอาจากตำแหน่งเรื่องของพันธุกรรม”

สำหรับ BA.4 และ BA.5 มีตำแหน่งพันธุกรรมบางจุดที่ต่างกัน แต่ไม่ได้ส่งผลในเรื่องของความรุนแรงที่มากขึ้น

จับตาใกล้ชิดสายพันธุ์ BA.5

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก(WHO) พบว่า BA.5 น่าจับตาใกล้ชิดมากกว่า BA.4 หมายความว่า เราพบการติดเชื้อในสัดส่วนที่มากขึ้น โดย BA.5 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 16 % เป็น 25% ส่วน BA.4 ลดจาก 16% เหลือ 9% หรือ BA.2.12.1 ที่เคยระบาดในสหรัฐอเมริกามาช่วงหนึ่งก็ลดลงจาก 31% เหลือ 17% โดยธรรมชาติอะไรที่แพร่ได้เร็วกว่าก็จะเบียดตัวที่แพร่ได้ช้ากว่า

“เพราะฉนั้นวันนี้เราสรุปได้ว่าในโลกใบนี้ ในภาพรวมของโลก BA.5 มันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ BA.4 และ BA.2.12.1 ลดลง เพราะฉะนั้นถ้าข้อความนี้มันถูกต้อง อีกไม่นานเราก็จะพบว่า BA.5 จะเป็น majority หรือกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดไปทั่วโลกและประเทศไทย” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า

สำหรับคำถามทุกครั้งที่มีการกลายพันธุ์ จะดูใน 3 ประเด็นคือ 1.แพร่เชื้อเร็วขึ้นหรือไม่ 2.หลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันหลังจากการติดเชื้อหรือไม่ และ 3.ยาที่รักษายังใช้ได้หรือไม่ ความรุนแรง คนไข้อาการหนักขึ้นหรือไม่ โดยข้อมูลเท่าที่ที่มีปัจจุบัน ซึ่งยังไม่ต้องวิตกเกินกว่าเหตุ

แต่แน่นอนว่าพอมีสัญญาณเราต้องจับตาดู แต่เราพบชัดเจนว่า BA.4 และ BA.5 แพร่เชื้อได้เร็วกว่า BA.2 และที่สำคัญแอนติบอดีในร่างกายที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อ ใช้ได้น้อยลง หมายความว่ามันสู้กับแอนติบอดีได้ดีกว่า ที่สำคัญคือ ยารักษาในบางรายตอบสนองได้น้อยลง แต่พอจะสรุปว่าแล้วมันรุนแรงหรือเปล่า จะต้องรอข้อมูลทางคลินิกเพิ่มเติม ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

คนติดโควิดมาก่อน-ฉีดวัคซีนแล้วอาจป่วยซ้ำได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลระบุว่า ในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนสามารถติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ซ้ำได้ โดยข้อมูลของผู้ที่เคยติดเชื้อ BA.1 ในกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เลยเมื่อเจอ BA.5 ภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคลดลงถึง 6-7 เท่า ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันลดลง 2 เท่าเศษๆ

“จึงบอกได้ว่าคนที่เคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 หรือ BA.2 มาก่อน อาจป่วยซ้ำได้ด้วยสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แต่ถ้าหากฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิคุ้มกัน สูงมากพอ ก็ยังสู้ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงมีรายงานว่าการวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น” น.พ.ศุภกิจกล่าว

ขออย่ากังวล มั่นใจตรวจจับได้หมด

“จากข้อมูล อย่าเพิ่งกังวลอะไรไปมาก ขณะนี้เรากำลังเปิดประเทศ กำลังผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ซึ่งข้อมูลศึกษาจากประเทศอังกฤษพบว่า BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 พบว่า ในบางประเทศเช่นสหราชอาณาจักร แพร่เร็วกว่า 1 เท่า อาจถึง 1.5 เท่า ในสหรัฐอเมริกาก็แพร่เร็วกว่า 1.5 เท่า แอฟริกาใต้ประมาณ 1 เท่า

ขณะที่ในฝรั่งเศส เยอรมนีแพร่เร็ว แต่ไม่ต่างกับ BA.2 แต่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส กลับแพร่เร็วได้ต่ำกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งยังไม่รู้ว่าปัจจัยพวกนี้เกิดขึ้นจากอะไร นั่นหมายความว่า แต่ละประเทศไม่ได้แพร่เร็วกว่า BA.2 สักเท่าไร จึงต้องจับตาดูต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่แต่ละประเทศถอดรหัสพันธุกรรมแล้วส่งข้อมูลไปยังจีเสส (GISIAD) พบว่า BA.5 พบ 31,577 ตัวอย่าง BA.4 พบ 14,655 ตัวอย่าง สรุปได้ว่าเจอ BA.5 พบมากขึ้นในอเมริกาและยุโรป และแอฟริกาใต้ แต่ทั้งนี้ข้อมูลการถอดสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการตรวจสายพันธุ์ของแต่ละประเทศด้วย ที่ไหนไม่ตรวจก็ย่อมจะไมีข้อมูล

“ผมยังให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชน ยืนยันว่าด้วยวิธีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเรา คือตรวจทั้งแบบเร็ว ได้ผลภายใน 1 วัน ศูนย์ตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งยังทำทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง และเรายังดักจับได้ทุกตัว ยกเว้น BA. 4,5 ที่เรายังไม่ได้แยก แต่อนาคตจะมีการแยก

และอันที่สองเที่เราทำสม่ำเสมอร่วมกับเครือข่ายคือการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (whole genome sequencing) จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะนี้ไทยตรวจสัปดาห์ 500-600 ตัวอย่าง และมีการส่งข้อมูลเข้าGISIAD และที่มีคนเอามาบอกสื่อมวลชนคืออ่านใน GISIAD มา ยืนยันว่าเรายังตรวจได้ทั้งหมด ไม่มีตัวไหนหลบการตรวจได้ ” นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำ

ไทยพบ BA.4 และ BA.5 รวม 181 ตัวอย่าง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับการพบ BA.4 และ BA.5 นั้น ในประเทศไทยพบรายแรกในกลางเดือนเมษายน 2565 ข้อมูลตรวจสายพันธุ์ระหว่างวันที่ 18-22 มิถุนายน ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจทั้งหมด 396 ตัวอย่าง พบเป็น BA.2 จำนวน 213 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 53.8 และเป็น BA.4 กับ BA.5 รวม 181 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 45.7 สัดส่วนที่พบสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบมากในผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ร้อยละ 72.7 พบในประเทศ ร้อยละ 27.3 ฉะนั้นต้องดูอีก 2-3 สัปดาห์ ถึงจะเห็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

การพบโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในไทย

กรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงประสานกรมการแพทย์ โรงพยาบาล (รพ.) ใหญ่ๆในต่างจังหวัด ให้ส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมาตรวจสายพันธุ์ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลว่า BA.4, BA.5 มีความรุนแรงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์ฯ จะมีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในผู้เดินทางเข้าประเทศ ชายแดน ผู้ที่มีอาการรุนแรง และคลัสเตอร์แปลกๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

ชี้ความรุนแรงของอาการยังไม่ฟันธง

ขณะนี้เรื่องข้อมูล ความรุนแรง ยังไม่มีสำนักไหนฟันธงว่า BA.4, BA.5 มีความรุนแรงมากขึ้นจริง แต่การรับวัคซีนเข็มกระตุ้น และมาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสมช่วยลดความรุนแรงได้ ล่าสุดราชกิจจาฯออกประกาศแล้วว่า เราไม่บังคับการสวมหน้ากากอนามัย แม้จะมีการออกคำแนะนำแล้วว่าให้สวมหน้ากากอนามัยตามสมัครใจ แต่การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือเป็นความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของประชาชน

“ขอให้ถามตัวเองว่าหากเราอยู่คนเดียว ไม่มีปัญหาอะไร อยู่ห่างไกลจากผู้คนก็ถอดได้ แต่ถ้าตอนไหนที่คิดว่ามีความจำเป็นไปพูดคุยกับคนอื่น ก็ใส่ไว้ป้องกันหลายโรคได้ บางคนใส่หน้ากากอนามัยมาแทบไม่เคยเป็นหวัดเลย ซึ่งมันพิสูจน์ได้ด้วยตัวเราเอง ว่าหน้ากากอนามัยป้องกันได้ ส่วนมาตรการอื่น ข้อมูลตอนนี้เรายังไม่เห็นข้อมูลว่าจะต้องเพิ่มมาตรการอะไรเพิ่มเติม” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นายแพทย์ บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ขอย้ำว่าข้อมูลที่ระบุว่าการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R ของ BA.4 BA.5 ที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบง่ายขึ้น ยังเป็นข้อมูลวิจัยที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) แต่ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางคลินิก ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกก็ได้สรุปว่า ไม่มีความรุนแรงมากกว่า BA.1, BA.2 ที่เราทราบกันว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าเยอะ

โฟกัสตรวจกลุ่มมาจากตปท. อาการหนัก

นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่าผู้ติดเชื้อแล้วไม่ต้องตกใจ สามารถรายงานเข้ามาในระบบได้ และไม่ต้องตรวจหาสายพันธุ์อะไร ส่วนการตรวจ ATK ยังคงตรวจจับสายพันธุ์โอมิครอนได้ รวมทั้ง BA.4 BA.5 ได้ และจะตรวจในช่วงที่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งไวรัสมีปริมาณมาก

“เรื่องสายพันธุ์ไว้ใจเรา เราจะสุ่มตรวจในกลุ่มที่มีความจำเป็นทั้งหลาย เช่นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อาการหนัก คลัสเตอร์ที่แปลกๆ เรามีเกณฑ์ที่จะตรวจอยู่แล้ว และตรวจในปริมาณที่มากพอ รู้รายละเอียดที่มากพอ ไม่ต้องห่วง และจะต้องติดตามในสัปดาห์ถัดไปว่าสถานการณ์ในประเทศเราจะเป็นอย่างไร”นพ.ศุกกิจกล่าวในตอนท้าย

ส่วนข้อสอบถามที่ว่าโอมิครอน BA.4 BA.5 จะทำให้การระบาดระลอกใหม่หรือไม่นั้น นายแพทย์ศุภกิจกล่าว่า ยังบอกไม่ได้ เนื่องจากวันนี้หลายประเทศในโลกทำคล้ายๆกันหมด คือตรวจลดลง เพราะฉะนั้นตัวเลขจริงๆ น่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก มันก็เป็นเหมือนโรคทั่วไป ซึ่งถ้าไม่มีอาการรุนแรงอย่างผิดปกติหรือเห็นได้ชัด เราก็ไม่ได้สนใจ แต้ถ้ามันมากับความรุนแรงและเห็นได้ชัดว่าผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราอาจจะต้องทำอะไรบางอย่าง ซึ่งเราก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่เราก็จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น

สรุป

1.สายพันธุ์ Omicron เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วโลกและประเทศไทย ซึ่ง WHO จัดให้ BA.4 และ BA.5 เป็น VOC-LUM (เป็นสายพันธุ์ย่อย)

2.ในหลายประเทศพบการเพิ่มจำนวน(growth rate) ของ BA.5 เพิ่มขึ้น ส่วน BA.4 และ BA.2.12.1 มีแนวโน้มลดลง

3.จากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามีสัดส่วนของ BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้น ยังพบในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศ

4.BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R คล้ายสายพันธุ์ เดลต้า จากข้อมูลจนถึงปัจจุบันพบว่าความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น และหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับความรุนแรง

5.การมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังมีความจำเป็น รวมถึงมาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสม